Call Center

การวัดความดันตา

บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก

หากต้องการทราบความดันตาจริงๆ ที่แม่นยำที่สุด คงอาจต้องใช้เครื่องมือเจาะเข้าลูกตาและต่อเข้ากับเครื่องวัดอย่างที่เราต้องการวัดแรงดันเครื่องจักรทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นวิธีที่ทำร้ายดวงตามาก ไม่ทำกันในทางคลีนิค แต่มีการผลิตเครื่องมือพิเศษที่ไม่ต้องทำร้ายดวงตามาก เรียกกันว่า tonometer ซึ่งที่ใช้กันในทางคลินิคทั่วๆ ไป ในปัจจุบันประกอบด้วย

  1. schiotz tonometer ใช้กันในคลินิคหรือโรงพยาบาลรักษาโรคทั่วไป (ไม่มีจักษุแพทย์) เป็นเครื่องมือขนาดเล็ก พกพาได้สะดวก สามารถนำไปวัดให้ผู้ป่วยในที่ต่าง ๆ ได้ วิธีวัดทำได้ง่ายด้วยบุคลากรทางการแพทย์ เช่น ผู้ช่วยพยาบาล พยาบาล แพทย์ทั่วไป ได้ค่าความดันตาไม่แม่นยำนัก แต่พอใช้ได้ในการคัดกรองคนหมู่มาก วิธีการวัดต้องหยอดยาชาก่อนใช้เครื่องมือวางตั้งฉากบนกลางตาดำ ปลายเครื่องมือที่สัมผัสดวงตาเป็นเดือยเล็ก ๆ กดลงตาดำ (indentation) วัดค่าความดันตาจากเดือยที่กดลงตาดำ ถ้าความดันตาน้อย เดือยจะจมลงมากกว่า นำค่านี้ไปเทียบตารางอ่านเป็นค่าความดันตาออกมาเป็น มิลลิเมตรปรอท
  2. ใช้เครื่องมือที่เรียก applanation tonometer วัดโดยจักษุแพทย์ เครื่องมือวัดติดกับ slit lamp ที่หมอตาใช้ตรวจตาอย่างละเอียด เป็นเครื่องมือที่ได้ค่าความดันตาที่แม่นยำที่สุดที่ใช้กันในคลินิคหมอตา ข้อเสียคือเครื่องมือยุ่งยากกว่า (1) พกพายาก การวัดต้องอาศัยความชำนาญของผู้วัด เครื่องมือราคาแพง เป็นเครื่องมือใช้วัดติดตามผลการรักษาต้อหินที่ใช้กันโดยหมอตาในปัจจุบัน
  3. ทั้งวิธีที่ 1 และ 2 ต้องมีการสัมผัสกับตาผู้ป่วย จำเป็นต้องหยอดยาชาก่อนเสมอ ในปัจจุบัน หันมาใช้เครื่องมือที่เรียกกันว่า non-contact tonometer โดยใช้ลมเป่า จึงเรียกกันว่า pneumotonometer ใช้ลมเป่าเข้าตาดำ แรงลมเป่าทำให้อ่านค่าความดันตาออกมา ข้อดีไม่ต้องสัมผัสดวงตาผู้ป่วยเลย ได้ค่าที่พอเชื่อถือได้ สามารถวัดได้เลย ไม่ต้องถอดคอนแทคเลนส์ (ในกรณีผู้ป่วยใช้คอนแทคเลนส์อยู่)
  4. การใช้นิ้วมือสัมผัส โดยผู้ตรวจใช้นิ้วกดลูกตา พอรู้ได้ว่าความดันตาสูงหรือต่ำ ใช้ในกรณีไม่มีเครื่องมือ ส่วนมากจะสัมผัสและรู้ได้ หากความดันตาสูงหรือต่ำมากเท่านั้น เสมือนหนึ่งให้ประเมินน้ำหนักของบางอย่างด้วยความรู้สึกเมื่อยกของนั้นๆ