Call Center

ไขข้อข้องใจเรื่องตาขี้เกียจ

ไขข้อข้องใจเรื่องตาขี้เกียจ
บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก

มีสุภาพสตรีวัย 24 ปี เขียนมาถามว่า

“ดิฉันอายุ 24 ปี ไม่เคยรับการตรวจตาเลย สัปดาห์ก่อนไปตรวจตา หมอแจ้งว่าตาขวาเป็นตาขี้เกียจ รักษาไม่ได้แล้ว อยากทราบว่าตาขวาจะมัวลงเรื่อย ๆ จนถึงขั้นตาบอดไหมคะ”

ตาขี้เกียจ คงเรียกล้อตามฝรั่งที่เรียกภาวะนี้ว่า lazy eye นั่นเอง แต่ทางแพทย์เรียกกว่า amblyopia หมายถึง ภาวะซึ่งตานั้นพร่ามัว ตรวจแล้วพบว่ามีการมองเห็นน้อยกว่าปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ กล่าวคือ เมื่อพบว่าตาข้างนั้นมองไม่เห็นเท่าตาอีกข้าง แพทย์จะตรวจหาสาเหตุ ถ้าพบโรคที่เป็นเหตุถือว่า ตานั้นมัวจากโรค แต่ถ้าตรวจไม่พบโรคที่เป็นสาเหตุชัดเจน หรือแม้แต่พบว่ามีความผิดปกติ แต่แก้ไขแล้วตาก็ยังมองไม่ชัด จึงเรียกตานั้นว่า ตาขี้เกียจ

ตาขี้เกียจเกิดตั้งแต่วัยเด็ก ใน 7 ขวบแรก กล่าวคือ เด็กแรกเกิดแม้จะมีดวงตาที่ปกติ แต่การมองเห็นยังไม่ชัดเจน จะมีการพัฒนาการมองเห็นดีขึ้นเรื่อย ๆ จนเห็นเท่าผู้ใหญ่ในอายุประมาณ 7-10 ขวบ ระหว่างที่ตากำลังพัฒนา หากมีอะไรมาปิดบังการมองเห็น การพัฒนาจะหยุด พูดง่าย ๆ เสมือนจอประสาทตาไม่ได้รับการกระตุ้น จึงไม่รับรู้การมองเห็น หากทิ้งไว้นานเข้าจอประสาทตาจะบกพร่องไม่เห็นเท่าที่ควร ทฤษฎีที่ว่าจอประสาทตาไม่ถูกกระตุ้น ทำให้ไม่รับรู้การมองเห็น ได้มีการทดลองในสัตว์แรกเกิดนำมาปิดตา ไม่ให้สัมผัสแสงเลย พบว่าสัตว์นั้นตาบอดในเวลาต่อมา สนับสนุนทฤษฎีนี้

ภาวะตาขี้เกียจ ควรรักษาทันทีแต่เนิ่น ๆ เช่น ตาขี้เกียจจากตาเขหรือสายตาผิดปกติ ควรรับการแก้ไขตั้งแต่เด็ก จอประสาทตาจะได้มีการพัฒนา เช่น ตาที่ปกติ โดยทั่วไปควรรับการแก้ไขก่อนอายุ 10 ปี อย่างไรก็ตาม ตาขี้เกียจจากบางสภาวะ เช่น สายตาผิดปกติในบางราย แม้พบในอายุมาก หากแก้ไขภาวะสายตาที่ผิดปกติอาจทำให้การมองเห็นดีขึ้น แต่มักจะไม่เท่าตาปกติเลย แม้พบเมื่ออายุเกิน 10 ปีไปแล้ว ก็ไม่เสียหายที่จะแก้ไขสายตาผิดปกตินั้น แต่ไม่อยากให้ตั้งความหวังว่าตาจะหายเป็นปกติเลย

ต่อข้อถามที่ว่า ตาจะมัวลงไปเรื่อย ๆ จนบอดไหม โดยทั่วไปภาวะตาขี้เกียจมักจะมัวเท่าเดิมไม่เลวลง แต่อาจจะมัวจากโรคอื่นที่เกิดในภายหลังเช่นคนทั่วไป