Call Center

ตาบอดสี ตอนที่ 4

เมื่อบางครั้งเจ้าตัวยังไม่ยอมรับว่าตาบอดสี หรือไม่ทราบว่าตาบอดสี ดังเช่นผู้ที่บอดสีแดง เรายื่นกุหลาบสีแดง เขาก็บอกได้ว่าเป็นสีแดง แล้วเราจะบอกว่าเขาบอดสีแดงได้อย่างไร แม้เขาจะบอกได้ว่ากุหลาบสีแดง แต่ในความเป็นจริงเขาเห็นสีไม่เหมือนคนปกติ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจให้เจ้าตัวยอมรับว่าเห็นสีต่างจากคนปกติ หรือแยกสีไม่ได้

แผ่นภาพตรวจตาบอดสีที่รู้จักกันดีคือ Ishihara chart ซึ่งได้ชื่อมาจากจักษุแพทย์ชาวญี่ปุ่น เป็นผู้สร้างแผ่นภาพใช้ตรวจตาบอดสีตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2460 ยังนิยมใช้กันในปัจจุบัน เป็นแผ่นภาพใช้ตรวจคัดกรอง (screening) คนตาบอดสีออกจากคนปกติ กล่าวคือ ผลการตรวจจะแยกว่าเห็นสีปกติหรือมีภาวะบอดแดง-เขียว ได้ดี แต่แยกว่าบอดสีแดงหรือเขียวได้ไม่แม่นยำ แม้ว่าบาง version แจ้งว่าแยกได้แต่อาจคลาดเคลื่อน อีกทั้งไม่สามารถตรวจว่าบอดเล็กน้อยหรือขั้นรุนแรง จึงมักใช้ Ishihara chart เพื่อการคัดกรองมากกว่า หากพบว่าผิดปกติ ต้องหาการตรวจวิธีอื่นเพื่อคัดแยกต่อไป

หลักการของ Ishihara chart อาศัยหลักที่ว่าผู้ที่บอดสีแดงจะสับสนแนวสีที่เรียกว่าเป็นสีเติมเต็ม (complementary) แนวนี้อาจเรียกว่า neutral axis หรือ confusion line สีแดงอยู่ในแนวเดียวกับสีน้ำเงินอมเขียว ถ้าแผ่นภาพทำด้วยจุดสีแดง เป็นตัวเลขบนพื้นสีน้ำเงินอมเขียว คนบอดสีแดงจะไม่เห็นตัวเลข เพราะจะเห็นสีแดงและสีน้ำเงินอมเขียวเป็นสีเดียวกัน ในขณะที่คนปกติสามารถอ่านตัวเลขได้ ส่วนคนที่บอดสีเขียวจะสับสนสีเขียวกับสีม่วงอมแดง ซึ่งเป็น confusion line ด้วยหลักอันเดียวกัน ตัวเลขสีเขียวบนเพื่นสีม่วงอมแดง คนบอดสีเขียวจะมองไม่เห็นตัวเลข แผ่นภาพ Ishihara chart จึงเป็นการสร้างภาพ หรือตัวเลขบนพื้นด้วยสีที่อยู่ใน confusion line ในบาง version ของ Ishihara chart ใช้ saturation แตกต่างออกไปทำให้ แยกบอดสีแดงออกจากเขียวได้ แต่มักจะผิดพลาด จึงใช้ Ishihara เป็นตัวคัดกรองระหว่างตาปกติ กับตาบอดสีเขียวแดงมากกว่า ในปัจจุบันมี chart ใหม่ๆ ของ AO-H-R-R ทำเป็นรูปทรงเรขาคณิต เช่น รูปสามเหลี่ยม วงกลม หรือสี่เหลี่ยมแทนตัวเลขสำหรับผู้อ่านตัวเลขไม่ออกอาศัยหลักเดียวกัน

บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก