เส้นประสาทสมองเส้นที่ 6 ทำงานผิดปกติ
การทำงานของลูกตาเรานั้นมี 2 ส่วนหลักๆ อย่างแรกคือ การรับภาพทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างที่ 2 คือ การขยับลูกตาไปมาพร้อมๆกันทั้ง 2 ตา ทำให้เราสามารถมองไปในทิศทางต่างๆได้ โดยไม่ต้องหันหน้าไปทุกครั้ง
ในภาวะปกติ ตาทั้ง 2 ข้างจะขยับไปพร้อมๆกันในทุกทิศทาง (ยกเว้นเวลามองใกล้ เช่น อ่านหนังสือ) ตาทั้ง 2 ข้างจึงจ้องมองไปที่ตำแหน่งเดียวกันและมองเห็นภาพเดียวกัน ทำให้ไม่มีภาพซ้อนเกิดขึ้น โดยมีเส้นประสาทสมองเส้นที่ 3, 4 และ 6 (3 - oculomotor nerve, 4- trochlear nerve, 6 - abducen nerve) มาควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการขยับลูกตาแต่ละข้าง
ถ้ามีความผิดปกติที่เส้นประสาทดังกล่าวจะทำให้ลูกตาทั้ง 2 ข้างขยับไปไม่เท่ากัน ทำให้ลูกตาแต่ละข้างมองไปยังตำแหน่งที่ต่างกัน ผู้ป่วยก็จะเกิดปัญหาเห็นภาพซ้อนขึ้นมา ซึ่งภาพซ้อนในลักษณะนี้จะหายไปถ้าปิดตาข้างใดข้างหนึ่ง เพราะผู้ป่วยใช้ตาข้างเดียวมองภาพอยู่
ในที่นี้จะกล่าวถึงความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 6 (abducen nerve) โดยเส้นประสาทนี้ทอดออกมาจากก้านสมอง (brain stem) ทางด้านหน้า ผ่านไปในบริเวณฐานกะโหลกศีรษะ แล้วผ่านเข้าไปภายในเบ้าตา และไปควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ lateral rectus muscle
กล้ามเนื้อ lateral rectus muscle นี้เกาะอยู่ที่ด้านข้างของลูกตา ทำหน้าที่ในการขยับลูกตาออกไปด้านข้าง ดังนั้นความผิดปกติของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 6 จะทำให้ตามองออกไปด้านข้างไม่ได้ดังรูป
รูปลักษณะอาการเส้นประสาทสมองเส้นที่ 6 ข้างซ้ายผิดปกติ
สาเหตุของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 6 ทำงานผิดปกติ มีดังนี้
- เส้นประสาทขาดเลือด – เกิดจากเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กที่ไปหล่อเลี้ยงเส้นประสาทสมองเส้นที่ 6 อุดตันทำให้เส้นประสาทขาดเลือดไปเลี้ยงและทำงานไม่ได้ เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด มักพบในผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือด ไขมันในเลือดสูง สูบบุหรี่ อาการมักจะเกิดขึ้นโดยฉับพลัน และอาการมักจะคงที่ไม่ลุกลาม การรักษาโดย ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี งดสูบบุหรี่ อาการจะค่อยๆดีขึ้นอย่างช้าๆ ภายใน 3-4 เดือน
- เส้นประสาทถูกกดทับ – เช่น มีก้อนเนื้องอก หรือมีการอักเสบของเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียงแล้วบวมมากดทับ อาการในกลุ่มนี้จะค่อยๆเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ การรักษาในกลุ่มนี้ขึ้นกับสาเหตุที่มากดทับ เช่น การผ่าตัดเอาเนื้องอกออก หรือการให้ยาลดการอักเสบ
- อุบัติเหตุ – อุบัติเหตุที่มีการกระแทกศีรษะหรือเบ้าตา จะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่เส้นประสาทโดยตรง หรือทำให้เกิดการดึงรั้งตัวเส้นประสาทขณะถูกกระแทก อาการตาเหล่และภาพซ้อนมักเกิดทันทีหลังจากอุบัติเหตุ ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาการจะค่อยๆฟื้นตัวได้บ้าง แต่มักจะไม่กลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาใส่แว่นปริซึม(prism) หรือผ่าตัดแก้ไขตาเหล่
- ความดันในกะโหลกศีรษะขึ้นสูง – เช่น มีก้อนเนื้องอกในสมอง (ที่ไม่ได้กดเบียดเส้นประสาท) ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง เส้นเลือดดำในสมองอุดตัน ทำให้ความดันภายในกะโหลกศีรษะขึ้นสูง จนมากดเส้นประสาทสมองเส้นที่ 6 ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการเป็นมากขึ้นอย่างช้าๆ การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น
- ภาวะปวดศีรษะไมเกรน – การปวดศีรษะไมเกรนทำให้เส้นประสาทสมองเส้นที่ 3,4 และ 6 ทำงานผิดปกติได้ โดยยังไม่ทราบกลไกอย่างชัดเจน อาการมักจะเป็นหลังจากเกิดอาการปวดศีรษะค่อนข้างเร็ว และมักจะหายเป็นปกติได้ใน 2 – 3 สัปดาห์
- เป็นตั้งแต่แรกเกิด – จะพบในกลุ่มอาการบางอย่าง เช่น Duane retraction syndrome, Mobius syndrome เป็นต้น อาการจะคงที่ตลอดตั้งแต่แรกเกิด ผู้ป่วยกลุ่มนี้รักษาที่สาเหตุไม่ได้ การรักษาจะเน้นการแก้ปัญหาให้ผู้ป่วย เช่น ผ่าตัดแก้ไขตาเหล่
นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว ความผิดปกติที่ตัวกล้ามเนื้อ lateral rectus muscle เองก็ทำให้มีอาการเหมือนเส้นประสาทสมองเส้นที่ 6 ผิดปกติได้ เช่น โรค myasthenia gravis, การอักเสบที่ตัวกล้ามเนื้อจากเหตุต่างๆ จึงควรมาตรวจหาสาเหตุที่ถูกต้อง เพื่อที่จะได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป