Call Center

โยคะกับต้อหิน

โยคะถือกำเนิดจากประเทศอินเดียหลายพันปีมาแล้ว เป็นกลุ่มของการปฏิบัติหรือการประพฤติทางกาย จิตใจ และวิญญาณ มีการฝึกและปรับปรุงและสืบทอดกันเรื่อยมา ในประเทศตะวันตกได้นำโยคะมาเป็นการออกกำลังกาย เป็นการฝึกท่าโยคะที่เรียกว่า Asanas เป็นการฝึกและค้างในท่านั้นเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยจะเน้นความแข็งแรงและยืดหยุ่นของกระดูกสันหลัง ทำให้มีเลือดนำสารอาหารไปเลี้ยงประสาทไขสันหลังเพิ่มขึ้น การฝึกโยคะจะทำให้ต่อมต่าง ๆ รวมทั้งต่อมไร้ท่อทำงานดีขึ้น ท่าของการฝึกเป็นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อตามแบบของโยคะให้สอดคล้องกับการหายใจ เป็นการรวมกายและจิตเข้ากัน การฝึกโยคะซึ่งเป็นการฝึกประสาท ความยืดหยุ่น ความแข็งแรง การทรงตัว ลดความอ่อนล้าของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้ทั้งสุขภาพกายและจิตดีขึ้น

โดยสรุปการฝึกโยคะเป็นการตั้งใจโฟกัสไปที่ส่วนของร่างกายให้สอดคล้องกับการหายใจ จึงรวมใจกับกายและจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน ประมาณกันว่า ชาวอเมริกัน 16.5 ล้านคนฝึกโยคะเป็นประจำ และคาดว่าจะมีมากขึ้นเป็น 25 ล้านในปีต่อไป

ท่าฝึกโยคะที่อาจมีปัญหาในผู้ป่วยโรคต้อหิน ได้แก่ ท่าที่เรียกกันว่า head stand position เป็นท่าที่ศีรษะต่ำกว่าระดับหัวใจ ซึ่งได้มีการศึกษารายงานจาก MT Sinai Health System โดยวัดความดันตาก่อนการเล่น วัดขณะอยู่ในท่าศีรษะต่ำที่คงไว้ 2 นาที และหลังจากเลิกเล่น 10 นาที พบว่าความดันตาทั้งขณะเล่น หรือแม้หยุดไปแล้ว 10 นาที ความดันตายังสูงอยู่ จึงมีข้อเสนอแนะว่า ควรงดท่าดังกล่าวในคนที่เป็นต้อหิน หรือควรลดเวลาอยู่ในท่านั้นไม่เกิน 30 วินาที

บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก