Call Center

ต้อกระจกและระยะของต้อกระจก

บทความใน Wynk Ophthalmology EMR จาก International Ophthalmology online : กล่าวว่า

ต้อกระจกเป็นความเสื่อมของแก้วตาหรือ lens ธรรมชาติของคนเรา ซึ่งตั้งแต่เกิดมีความใส เมื่อใช้งานนานวัน (เมื่อเราอายุมากขึ้นโดยมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป) เกิดความผิดปกติโดยเริ่มขุ่น อาจแบ่งความขุ่นออกตามบริเวณในแก้วตา ได้เป็น 3 บริเวณ ได้แก่ ความขุ่น เกิดตรงใจกลาง นำไปสู่ nuclear cataract ถ้าความขุ่นเกิดบริเวณขอบ ๆ รอบ ๆ ใจกลาง เรียกว่า cortical cataract ถ้าความขุ่นเกิดรอบนอกสุดหรืออยู่ใต้ถุงหุ้มแก้วตา เรียกว่า posterior subcapsular cataract การมองเห็นจะลดลงมากน้อยขึ้นอยู่กับความขุ่นมากหรือน้อย และบริเวณที่เป็น โดยความขุ่น บริเวณนอกสุดมีผลต่อสายตามากสุด และลุกลามเร็วสุด

ระยะต่าง ๆ ของต้อกระจก

  • ระยะเริ่มแรก (early cataract) เป็นระยะที่แก้วตามีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ทำให้ตาเปลี่ยนโฟกัสเวลามองไกลมามองใกล้ หรือมองใกล้ไปมองไกลทำได้ยากขึ้น หรือไม่ชัดเท่าที่ควร บางคนอาจจะสังเกตว่าตามัวลง อาจเห็นแสงสะท้อนจากดวงไฟ ซึ่งรบกวนการมองเห็น ตลอดจนทำให้ตาเมื่อยล้าง่าย
  • ความขุ่นมีมากขึ้น อยู่ในระยะก่อนต้อแก่ (immature cataract) เป็นระยะที่ protein ในแก้วตาขุ่นมากขึ้น มักจะเริ่มขุ่นตรงกลาง ระยะนี้แพทย์มักจะแนะนำทำแว่นสายตาช่วยการมองเห็นและตัดแสงสะท้อน หรืออาจใช้แว่นกันแดด พอจะช่วยให้เห็นดีขึ้นบ้าง
  • ระยะที่แก้วตาขุ่นมากทั้งอัน อยู่ในระยะที่เรียกว่าต้อแก่หรือต้อสุก (mature cataract) ความขุ่นของแก้วตาจะกระจายไปถึงขอบ ลามไปแก้วตาทั้งหมด เป็นระยะที่มักทำให้ตามัวลงมากจนมีปัญหาในการดำรงชีพ แพทย์มักจะแนะนำให้รับการผ่าตัด
  • แก้วตาขุ่นมากขึ้น เรียกว่าต้อสุกเกิน (hypermature cataract) สายตามัวลงอย่างมาก จำเป็นต้องรับการผ่าตัดหากทิ้งไว้ นอกจากผ่าตัดได้ยากขึ้น อีกทั้งบางรายก่อให้เกิดการอักเสบภายในดวงตาจากการมี protein รั่วออกจากแก้วตา ตลอดจนอาจก่อให้เกิดต้อหินตามมา ซึ่งอาจทำให้นอกจากมัวยังมีอาการปวดตาด้วย และแม้ว่าจะได้รับการผ่าตัดในตอนหลัง สายตาอาจไม่ดีขึ้น

หากท่านได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นต้อกระจก ถ้าอยู่ในระยะ 1-2 คงไม่ต้องกังวล รอระจนระยะ 3-4 สมควรมารับการผ่าตัด

บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก