Call Center

โรคเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic retinopathy หรือ DR)

เบาหวานคืออะไร?

เบาหวาน (Diabetes Mellitus) คือโรคเรื้อรังที่ร่างกายมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดการเสื่อมของผนังหลอดเลือด ทำให้มีการอุดตันของหลอดเลือดและมีการขาดเลือด จึงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อวัยวะต่างๆ รวมถึงดวงตาตามมา

โรคเบาหวานขึ้นจอตาเกิดได้อย่างไร?

จอตา (Retina) คือโครงสร้างสำคัญของดวงตาซึ่งทำหน้าที่ในการรับภาพ เพื่อส่งข้อมูลไปยังสมอง เบาหวานขึ้นจอตา เกิดจากความผิดปกติของผนังหลอดเลือดจอตาหลังจากได้สัมผัสระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ความผิดปกติได้แก่ การอุดตัน แตกและรั่วซึมของหลอดเลือด ทำให้เกิดการบวมหรือขาดเลือดของจอตา หรือการเกิดหลอดเลือดสร้างใหม่ผิดปกติขึ้นมาใหม่ ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายต่อจอตาและการสูญเสียการมองเห็นในที่สุด

โรคมีกี่ระยะความรุนแรง?

  1. ระยะที่ยังไม่มีหลอดเลือดสร้างใหม่ (Non proliferative Diabetic Retinopathy, NPDR) : เป็นระยะเริ่มต้น ความผิดปกติเกิดจากการรั่วซึมของเหลวจากหลอดเลือด ทำให้เกิดจอตาบวมอาจไม่มีอาการตามัว หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยได้ แต่หากบริเวณจุดภาพชัดมีการบวม (macular edema) หรือขาดเลือด ส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้
  2. ระยะที่มีหลอดเลือดสร้างใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy, PDR): เป็นระยะที่รุนแรงมากขึ้น มีเส้นเลือดสร้างใหม่ซึ่งเกิดจากการขาดเลือดอย่างรุนแรง เส้นเลือดเหล่านี้มีความผิดปกติ เปราะแตกง่ายทำให้เกิดเลือดออกในวุ้นตา และเกิดเป็นพังผืดดึงรั้งทำให้จอตาลอกได้ ในระยะนี้มักมีการมองเห็นที่แย่ลงมากอย่างชัดเจน และอาจเกิดการสูญเสียการมองเห็นถาวรได้
โรคเบาหวานขึ้นจอตา

ปัจจัยที่ทำให้โรครุนแรงมากขึ้น?

  • เบาหวานประเภทที่ 1
  • ระยะเวลาที่เป็นเบาหวานมานาน
  • โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในโลหิตสูง
  • ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตได้
  • เบาหวานในภาวะตั้งครรภ์
  • สูบบุหรี่

ทราบได้อย่างไรว่าเบาหวานขึ้นจอตา?

ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกว่ามีอาการผิดปกติใดๆ หรือผิดปกติน้อยมาก หรือบางรายไม่ทันสังเกตเห็นความผิดปกติ เนื่องจากใช้ตาข้างที่ดีกว่าช่วยในการมองเห็น ดั้งนั้นหากมีอาการตามัวโรคอาจลุกลามไปมากแล้วได้ ตัวอย่างอาการเช่น

  • ตามัว แยกสียากขึ้น
  • เห็นจุดดำ หรือเส้นดำลอยไปมา
  • เห็นภาพบิดเบี้ยว
“ผู้ป่วยเบาหวานทุกคนควรได้รับการตรวจตาและขยายม่านตาตรวจจอตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แม้ไม่มีอาการผิดปกติก็ตาม ไม่ควรรอจนมีอาการ”

รักษาอย่างไร?

สิ่งที่มีผลต่อผลการรักษาเป็นอย่างมาก คือการลดปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วย ได้แก่การคุมระดับน้ำตาลในเลือด คุมความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือด งดบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และควรตรวจติดตามต่อเนื่อง ถึงแม้ว่ายังอยู่ในระยะที่ไม่ได้รับการรักษาก็ตาม

วิธีการรักษามีหลายอย่าง ซึ่งจักษุแพทย์จะพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายบุคคล และ ตามระยะของโรค

  • เลเซอร์จอตา กรณีอยู่ในระยะที่เสี่ยงมีเส้นเลือดสร้างใหม่เพื่อชะลอความรุนแรงของตัวโรคและลดความสูญเสียการมองเห็น นอกจากนั้นอาจพิจารณาใช้ช่วยลดอาการจุดรับภาพชัดบวมได้ในบางราย
  • ฉีดยาเข้าวุ้นตา กรณีมีจุดรับภาพชัดบวม หรือ เลือดออกวุ้นตาในบางราย ยาที่ฉีดเป็นยากลุ่มต้านการเจริญเติบโตของหลอดเลือด โดยผ่านกลไกหลัก คือ Anti-VEGF ยาในกลุ่มนี้มีหลายตัว ภายหลังมีการพัฒนายาที่ออกฤทธิ์ผ่านหลายกลไก เช่น Anti-Ang-2 หรือ Anti-PlGF ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มผลของการรักษา
  • ผ่าตัด ในกรณีเช่น เลือดออกวุ้นตา พังผืดจอตา หรือจอตาลอกเป็นต้น
บทความโดย
พญ. ปรียจรรย์ เหล่าไทย
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก