LASIK Hotline

การผ่าตัดแบบ Monovision

ภาวะสายตายาวตามอายุ (Presbyopia)

ภาวะสายตายาวตามอายุ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน อาจจะเริ่มเมื่ออายุตั้งแต่ประมาณ ใกล้ๆ 40 ถึง 50 ปี ปัญหาของการมีภาวะสายตายาวตามอายุคือ ไม่สามารถมองเห็นสิ่งเล็กๆที่อยู่ใกล้ เช่น ไม่สามารถอ่านหนังสือตัวอักษรขนาดเล็ก สนเข็ม ดูราคาสินค้า มองวันที่ที่หน้าปัดนาฬิกา หรือเขียนคิ้วเขียนขอบตาเวลาแต่งหน้าได้ แต่ละคนจะเริ่มมีปัญหานี้เมื่ออายุต่างๆกัน มีอาการเริ่มต้นคือ มองใกล้ๆไม่ชัดเมื่อแสงสว่างน้อย เมื่อยืดระยะมองให้ไกลขึ้นจะเห็นได้ดีขึ้น หรือเมื่อมองใกล้อยู่นานๆแล้วเปลี่ยนไปมองไกล หรือกลับกัน จะต้องปรับโฟกัสอยู่นานขึ้นกว่าจะชัด ในคนที่สายตาปกติมาแต่เดิมที่ไม่เคยสวมแว่นมาเลย เมื่อสายตาเริ่มยาวจนเพ่งอย่างไรก็ไม่ชัดแล้ว ก็จำเป็นต้องสวมแว่นสายตายาวเพื่อช่วยการมองใกล้

ในคนที่มีสายตาสั้นอยู่ก็พบว่ามีภาวะสายตายาวตามอายุเช่นกัน แต่มีคนที่สายตาสั้นอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่เคยทราบว่าตนเองก็มีภาวะนี้ด้วย เนื่องจากหากยังมีสายตาสั้นอยู่ อาการแสดงออกของอาการสายตายาวตามอายุก็จะถูกบดบังไว้ ดังมีกรณีที่พบต่างๆดังนี้

  1. เมื่อสวมแว่นที่มีกำลังน้อยกว่าสายตาจริงทั้ง 2 ตา ทำให้มองไกลไม่ชัดเจนเต็มที่ แต่ไม่มีปัญหากับการมองใกล้เลย จึงไม่ทราบว่าตนเองมีสายตายาวตามอายุแล้วหรือไม่
  2. เมื่อสายตาสั้นไม่มาก มักจะสังเกตว่าถอดแว่นแล้วอ่านใกล้ได้สบาย (แต่มองไกลด้วยตาเปล่าก็ไม่ชัดเหมือนเดิม)
  3. ถ้าสายตาสั้นมาก ก็ใช้วิธี ขยับแว่นให้ห่างตาเล็กน้อย หรือ ต้องใช้แว่น สองชั้น โดยเลนส์แว่นชั้นบนที่ใช้มองไกลมีกำลังพอดีสายตา ส่วนเลนส์แว่นชั้นล่างที่ใช้อ่านหนังสือจะมีกำลังน้อยกว่าสายตา
    ในกรณีเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของความเข้าใจที่ว่า "เมื่ออายุมากแล้วสายตาจะกลับ" ที่เคยสั้นมากก็จะน้อยลง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด
  4. เมื่อใส่ คอนแทคเลนส์ ให้กำลังของเลนส์ที่สวมพอดีกับสายตาทั้งสองข้าง จะทำให้ เห็นไกลชัดเจนดีมากเหมือนคนตาปกติ แต่ก็จะมองใกล้ๆยากขึ้นแบบเดียวกัน ทำให้ต้องสวมแว่นอ่านหนังสือ
  5. หากใส่คอนแทคเลนส์ข้างหนึ่งให้กำลังพอดีสายตา อีกข้างหนึ่งใส่ให้น้อยกว่าสายตาจริง เรียกว่าวิธี monovision ผลก็คือ จะมองไกลได้ดีพอควร และพอมองใกล้ได้ เนื่องด้วยตาข้างที่ใส่คอนแทคเลนส์พอดีสายตาช่วยมองไกล และพอมองใกล้ได้ ด้วยตาข้างที่ใส่คอนแทคเลนส์น้อยกว่าสายตา และจุดนี้เอง เป็นที่มาของการนำมาประยุกต์ทำ monovision ด้วยเลสิก

Monovision คืออะไร

ในคนที่มีอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไปทุกคน จะต้องมีภาวะสายตายาวสูงอายุเสมอ และจำเป็นต้องพึ่งพาแว่นตาสำหรับการอ่านหนังสือ วิธี Monovision เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการแก้ไขปัญหาความผิดปกติของสายตา ในผู้ที่มีทั้งภาวะสายตาสั้นหรือยาวแต่กำเนิด และภาวะสายตายาวสูงอายุร่วมด้วย โดยการรักษาสายตาสั้น ในตาข้างเด่นให้เต็มที่ เพื่อทำให้มองไกลได้ดี ส่วนในตาข้างด้อย จะมีการแก้ไข โดยตั้งใจให้เหลือภาวะสายตาสั้นไว้เล็กน้อย เพื่อที่จะสามารถมองใกล้ได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการมองเห็นที่ดีได้ทั้งใกล้และไกล โดยไม่ต้องใช้แว่นในชีวิตประจำวันทั่วไป เช่นการอ่านป้ายราคาสินค้า หรือเมนูอาหาร เป็นต้น

ลักษณะการมองเห็นที่ดีสำหรับ Monovision

ตาข้างหนึ่ง (ตาเด่น) สามารถมองไกลได้ชัดเจนดี แต่มองใกล้ไม่ดีนัก ตาอีกข้างหนึ่ง (ตาด้อย) สามารถมองใกล้ได้ดี ระดับที่สามารถอ่านตัวหนังสือได้ดีพอสมควร แต่มองไกลได้ไม่ชัดเจนเท่าตาเด่น และเมื่อใช้สายตาด้วยกัน 2 ข้างจะมองใกล้พออ่านตัวหนังสือได้ และมองเห็นไกลได้ดีด้วย

ความจริงบางประการเกี่ยวกับ Monovision

การแก้ไขสายตา แบบ Monovision มีข้อดีหลายประการ ที่ช่วยให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบาย แต่ก็มีข้อด้อยที่พ่วงมาด้วย ได้แก่ การมองไกลอาจไม่ชัดเจนสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลากลางคืน หรือ ในที่ที่มีแสงสว่างน้อย การมองใกล้แค่ระยะเวลาสั้นๆ นั้นใช้ได้ แต่หากจะใช้สายตา เพื่ออ่านหนังสือนานๆ หรือตัวหนังสือเล็กๆ อาจมีอาการเมื่อยล้าหรือความคมชัดไม่พอ

Monovision อาจต้องใช้แว่นตาในบางโอกาส

ด้วยปัญหาดังกล่าวข้างต้น ท่านที่เลือกการแก้ไขสายตา แบบ Monovision อาจต้องมีแว่นไว้ในบางโอกาสตามความต้องการดังนี้
  • กรณีที่ขับรถเวลากลางคืน อาจมีแว่นเพื่อช่วยมองไกลเนื่องจากในเวลากลางคืน หรือในที่ที่แสงสว่างน้อยตาข้างที่ยังมีสายตาสั้นเหลืออยู่เพื่อใช้ในการอ่านใกล้ อาจจะรบกวนการมองไกลได้ ทำให้การมองเห็นในเวลากลางคืนอาจจะไม่ดีพอที่จะรู้สึกมั่นใจและปลอดภัยพอที่จะขับรถ แว่นที่ใช้นี้ ในตาเด่น ที่เห็นไกลชัด จะทำเป็นเลนส์เปล่า และในตาข้างที่เหลือสั้นไว้ จะเป็นเลนส์แก้สายตาสั้น (ส่วนการขับรถเวลากลางวัน คนไข้ที่ทำ Monovision ไปแล้วมักไม่ต้องใช้แว่นใดๆ)
  • กรณีต้องอ่านหนังสือ ทำการฝีมือ ใช้คอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน หรืออ่านหนังสือตัวเล็กๆ อาจจะต้องใช้แว่นช่วยมองใกล้ เพื่อความรู้สึกสบายตาและลดการเมื่อยล้าตา โดยแว่นนี้จะทำเป็นเลนส์เปล่าในตาข้างที่เหลือสั้นไว้ และเป็นเลนส์สำหรับอ่านหนังสือในตาเด่นที่เห็นไกลชัด (ส่วนการมองใกล้แค่เวลาสั้นๆ เช่น การอ่านเมนูอาหาร การดูป้ายราคาสินค้า มักไม่ต้องใช้แว่น)
  • แว่นทั้ง 2 แบบนี้ ใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น ไม่ทำให้สายตาเสีย หรือปรับสภาพไม่ได้

การปรับสภาพตาให้เกิดความเคยชินกับ Monovision

  • ในช่วงแรกๆ โดยเฉพาะสัปดาห์แรก สายตาอาจจะยังไม่เข้าที่ ยังไม่สามารถแสดงประสิทธิภาพของ Monovision ได้เต็มที่ อาจเกิดปัญหาในการมองเห็น คือ ไม่ชัดเลย ทั้งใกล้และไกล เช่น ไม่สามารถอ่านหนังสือได้ หรืออ่านได้ไม่นาน มีอาการเมื่อยล้าตา แพทย์อาจพิจารณาให้ตัดแว่นใช้ชั่วคราว จนกว่าสายตาจะปรับเข้าที่ อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนเลนส์ของแว่นที่ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 เดือนแรก เพราะสายตาที่ได้จากการผ่าตัดยังไม่คงที่ และต้องให้เวลากับร่างกาย ในการปรับสภาพความคุ้นเคยด้วย ดังนั้น คนไข้ที่เลือกแก้ไขสายตา แบบ Monovision ควรจะทำใจให้สบาย เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับสภาพได้ง่าย เพราะหากท่านสามารถปรับสภาพได้ Monovision จะช่วยลดการพึ่งพาแว่นได้อย่างมาก ทั้งการมองไกลและอ่านหนังสือ

การส่งเสริมการปรับสภาพตาที่ดี หลังทำ Monovision

  • คนไข้ไม่ควรปิดตาทีละข้าง เพื่อทดสอบมองใกล้ หรือมองไกล เพราะสมองของเรา สามารถเลือกรับรู้ภาพที่ได้จากแต่ละตาอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องอาศัยเวลาบ้างเท่านั้น ดังนั้นควรพยายามใช้ตา 2 ข้างไปพร้อมๆ กัน
  • บางท่านอาจมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสภาพสายตา 2 ข้างที่ไม่เท่ากัน เกิดความรำคาญ เห็นภาพซ้อน มึนงง เวียนศีรษะ หรือปวดกระบอกตา เมื่อยล้าตา ลืมตาไม่ขึ้นเวลาเย็น
  • อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับคนไข้ Monovision ในช่วงแรกๆ หลังผ่าตัด ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าคนไข้เลือกผิด เพราะอาการที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ถือเป็นเรื่องธรรมดา หากร่างกายปรับสภาพได้แล้ว อาการเหล่านี้จะค่อยๆ ลดน้อยลง จนหายไปในที่สุด

ต้องรอนานเท่าใด จึงจะทราบว่าไม่สามารถปรับตัวเข้ากับ Monovision ได้

ความรำคาญ หรือปัญหาจากการใช้สายตา 2 ข้างที่ไม่เท่ากันนี้ หากไม่หายไปในเวลา 3 เดือนหลังการผ่าตัด อาจพิจารณาเข้ารับการเติมเลเซอร์ ในตาที่เหลือสายตาสั้นเอาไว้ (หลังจากเติมเลเซอร์แล้ว คนไข้จะต้องใช้แว่นสำหรับอ่านหนังสือเสมอ เหมือนคนสายตาปกติ ที่มีภาวะสายตายาวสูงอายุ)