Call Center

การคัดกรองภาวะจอตาเสื่อมจากยา Chloroquine (CQ)

การคัดกรองภาวะจอตาเสื่อมจากยา Chloroquine (CQ)

ยา Chloroquine (CQ) หรือ Hydroxychloroquine (HCQ) มีชื่อทางการค้าว่า Diroquine, Genocin, Plaquenil เป็นต้น ที่ใช้รักษาโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันธ์ (Connective tissue) เช่น โรค SLE, Rheumatoid และอื่นๆ ได้ผลดี ผลข้างเคียงไม่มาก แต่โรคเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ยาเป็นเวลานาน มีการสะสมของยาจึงเกิดผลข้างเคียงตามมา

แต่เดิมที่ใช้รักษามาเลเรีย ให้ยาระยะสั้น จึงไม่เกิดผลเสียอะไร ผลข้างเคียงใช้ยานานๆ ที่สำคัญ ที่พบทางตาคือ เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จอตาที่เรียกกันว่า Chloroquine retinopathy มีลักษณะเฉพาะที่หมอตาเรียกกันว่า “bull’s eye” เกิดที่บริเวณ macula ซึ่งเป็นจอตาส่วนที่สำคัญที่สุดในการมองเห็น ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เมื่อเกิดพยาธิสภาพที่จอตาจนตามัวลงแล้ว นอกจากสายตาจะไม่กลับคืน แต่พยาธิสภาพยังดำเนินต่อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง ทำให้สายตามัวลงไปอีกแม้จะหยุดยาแล้ว ควรเฝ้าระวังการเกิดผลข้างเคียงนี้ หากสามารถตรวจพบว่าเริ่มมีพยาธิสภาพที่จอตาเพียงเล็กน้อย ยังไม่ทันมีผลต่อการมองเห็น ย่อมจะได้ผลดีที่สุด เพราะผู้ป่วยจำนวนมากยังต้องใช้อยู่

มีการเสนอสูตรต่างๆ ว่า ควรทำอย่างไร เช่น จำกัดขนาดยาลง ระยะเวลาที่เหมาะสม เลือกใช้ HCQ มากกว่า CQ เพราะผลข้างเคียงเกิดน้อยกว่า ขนาดยาต้องคำนึงถึงน้ำหนักตัวด้วย มีบ่อยครั้งผู้ป่วยตัวเล็ก แต่ใช้ขนาดสำหรับทุกคนเท่ากันหมด จึงอาจมีปัญหาแทรกซ้อนตามมา ล่าสุด ปี 2016 สมาคมจักษุแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American academy ophthalmology) ได้เสนอวิธีการตรวจคัดกรองไว้ดังนี้

  1. การตรวจเน้นตรวจตาทั่วๆ ไปพื้นฐาน (base line) เน้นที่
    • จอประสาทตา (fundus exam) ภายในปีแรกที่เริ่มใช้ เพื่อดูก่อนว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติของ macula อยู่เดิมจากโรคตาอื่นที่เป็นอยู่หรือไม่ เพราะถ้ามีจะเร่งการเกิดผลแทรกซ้อนที่ไม่ดีได้
    • หากมี macula ที่ไม่ปกติ ควรตรวจลานสายตา (CTVF) โดยเฉพาะคนเอเชียพบว่า หากเกิดความผิดปกติ มักจะเกิดบริเวณไกลจากจุดมองชัด (fovea) กล่าวคือ ชนชาติอื่นมักผิดปกติบริเวณ parafoveal แต่คนเอเชียมักเกิดที่ extramacula ดังนั้น คนยุโรปอาจใช้ program 10-2 แต่คนไทยควรใช้ 24-2 หรือ 30-2 และตรวจด้วย SD OCT ไว้ด้วยเลย
  2. การตรวจประจำปี
    • 2.1 ตรวจหลังใช้ยาแล้ว 5 ปี เป็นต้นไป ในผู้ป่วยไม่มีปัจจัยเสี่ยง
    • 2.2 ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมตรวจซ้ำทันที และพิจารณาเป็นรายๆ ไป
  3. การตรวจคัดกรองประจำปี ควรตรวจ
    • 3.1 ลานสายตาด้วย computer CTVF program 24-2 หรือ 30-2 สำหรับคนไทย
    • 3.2 ตรวจด้วย SD OCT ดูบริเวณห่างจาก macular ออกไป
    • 3.3 ถ้าทำได้ทำ multifocal ERG ซึ่งกรณีนี้มักจะสอดคล้องกับ 3.1 อยู่แล้ว

โดยสรุป การตรวจคัดกรองที่สำคัญประกอบด้วยการตรวจลานสายตา ซึ่งเป็น subjective กล่าวคือ ผู้ป่วยต้องร่วมมือ เข้าใจ ตอบสนองการตรวจอย่างถูกต้องกับการตรวจด้วย SD OCT เป็นการตรวจแบบ objective ไม่ต้องอาศัยการตอบสนองของผู้ป่วยมากนัก จึงเชื่อถือได้มากกว่าเครื่องมือทั้ง 2 มีบริการอยู่แล้วในโรงพยาบาลเรา ท่านที่มีโรคที่ต้องใช้ยาดังกล่าว ปรึกษาและรับการตรวจได้ค่ะ

Photo cr : rxstars.net
บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก