Call Center

ภาวะหนังตาตกจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Myasthenia Gravis (MG)

ภาวะหนังตาตกจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Myasthenia Gravis (MG)

หนังตาตกเป็นอาการนำที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบจักษุแพทย์ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Myasthenia Gravis, ภาวะกล้ามเนื้อหนังตาหย่อน, เส้นประสาทสมองคู่ที่ 3 เป็นอัมพาต, อุบัติเหตุ เป็นต้น

โรค Myasthenia Gravis (MG)
  • พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
  • พบในวัยทำงานมากกว่าเด็กและผู้สูงอายุ

เกิดจากการที่ร่างกายสร้างภูมิต้านทานมากเกินไปจนทำให้เนื้อเยื่อของร่างกายเกิดการอักเสบขึ้น (ภาวะ autoimmune) โดย ภาวะ autoimmune ในโรค MG นั้น จะทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการขยับส่วนต่างๆของร่างกาย ส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และกล้ามเนื้อที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกๆ คือ กล้ามเนื้อที่ใช้ลืมตา

ลักษณะของอาการหนังตาตกจากโรค MG นั้น
  • อาจเป็นเพียงตาข้างเดียว
  • อาจเป็นทั้ง 2 ตาโดยหนังตาตกไม่เท่ากันก็ได้
  • หนังตาตกจะเป็นไม่เท่ากันในแต่ละช่วงเวลา
  • อาการมักจะดีขึ้นในช่วงเช้าหลังจากตื่นนอน หลังจากหลับตาพัก
  • จะเป็นมากในช่วงเวลาบ่ายถึงเย็น
นอกจากกล้ามเนื้อที่ใช้ลืมตาแล้ว ยังสามารถเกิดการอ่อนแรงที่กล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ได้ เช่น
  • กล้ามเนื้อกลอกลูกตา ทำให้มองเห็นภาพซ้อน
  • กล้ามเนื้อใบหน้า ทำให้มีอาการปากเบี้ยว
  • กล้ามเนื้อการกลืน ทำให้กลืนอาหารลำบาก
  • กล้ามเนื้อแขนขา ทำให้แขนขาอ่อนแรง
  • ในผู้ป่วยที่อาการเป็นรุนแรงมากอาจทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้หายใจอ่อนแรงจนหายใจเองไม่เพียงพอ ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ

โรค MG นั้นเป็นโรคเรื้อรังและยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจึงควรมารับการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับยาให้เหมาะสมกับความรุนแรงของโรค และหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาได้มากที่สุด

หากคุณมีภาวะหนังตาตก อย่านิ่งนอนใจ ควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดจากผู้เชี่ยวชาญ

นพ. ธรณิศร์ ดีประเสริฐวิทย์
บทความโดย
นพ. ธรณิศร์ ดีประเสริฐวิทย์
ประสาทจักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก