วิธีการดูแล คอนแทคเลนส์ ที่ถูกต้อง
บทความโดย
นพ. มานะชัย นนท์ภาษโสภณ
จักษุแพทย์ด้านกระจกตา และการผ่าตัดแก้ไขสายตา รพ. ตา หู คอ จมูก
กล่องเก็บคอนแทคเลนส์ (lens case)
- ควรเปลี่ยนทุกเดือน
- กรณีที่เปลี่ยนไม่ได้ควรทำความสะอาดให้สม่ำเสมอ เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรคครับ
ขั้นตอนการทำความสะอาด มีขั้นตอนดังนี้
- เอาน้ำยาแช่ contact lens เก่าออกให้หมด
- ชะล้างตัว case ด้วย multipurpose contact lens solution (น้ำยาล้างเลนส์) ถูในตัว case ด้วยนิ้วมือ (ล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อนด้วยน่ะครับ) ชะล้างด้วยน้ำยาอีกครั้ง
- เป่า case ให้แห้งหรือคว่ำ case ไว้จนแห้งสนิท
- หมั่นเอา case มาต้มในน้ำร้อนเป็นเวลา 4-5 นาที เนื่องจากเชื้อโรคบางตัวทนต่อน้ำยาล้างเลนส์
Contact lens มีขั้นตอนหลักๆ 3 ขั้นตอน
- Cleaning ; ส่วนนี้ช่วยกำจัดเชื้อโรคได้ 90% คือ การทำความสะอาดหลังจากถอดเลนส์ ทำโดยนำเลนส์วางบนฝ่ามือหลังจากนั้นหยดน้ำยาล้างเลนส์ 2-3 หยด ถูเลนส์ด้วยนิ้วมือ (เหมือนเคยครับ มือต้องสะอาดและเช็ดให้แห้ง) 20-30 วินาที ทำทั้ง 2 ด้าน แนะนำว่าควรถูเลนส์ครับแม้ว่าจะเป็นน้ำยาที่ระบุว่าไม่จำเป็นต้องถู
- Rinsing ; ส่วนนี้จะกำจัดเชื้อโรคไปอีก 9% ครับ คือการรินน้ำยาล้างเลนส์ผ่านตัวคอนแทคเลนส์ เพื่อชะล้างสิ่งสกปรกและเชื้อโรคออกไป อาจใช้น้ำยาล้างเลนส์ หรือน้ำเกลือ
- Disinfection ; ส่วนนี้ช่วยกำจัดเชื้อโรคในอีก 1% ที่เหลือครับ วิธีที่ง่ายที่สุดคือแช่คอนแทคเลนส์ใน lens case ที่ทำความสะอาดไว้แล้วด้วยน้ำยา multipurpose solution โดยทิ้งไว้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง ขึ้นกับชนิดของน้ำยา หลังจากนั้นเมื่อต้องการนำคอนแทคเลนส์มาใส่อาจรินล้างน้ำยาล้างเลนส์อีกครั้งด้วยน้ำยาล้างเลนส์หรือน้ำเกลือก็ได้ครับ
เพียงทำตามขั้นตอนเท่านี้ด้วยความมีวินัยผู้ใช้ก็จะสามารถใช้ contact lens ได้อย่างปลอดภัยขึ้นมากครับ
ในกรณีที่ใส่คอนแทคเลนส์แล้วมีอาการผิดปรกติ เช่น ตาแดง เคืองตา ตามัวลง หรือเห็นจุดขาวที่กระจกตาควรรีบมาพบจักษุแพทย์ เนื่องจากถ้าเป็นการติดเชื้อการรักษาโดยเร็วจะช่วยให้พยากรณ์โรคดีขึ้นมากครับ
Photo Credited: Proper Care of Contact Lenses. JAMA. 2015;314(14):1534