Call Center

เครื่องช่วยฟัง

เครื่องช่วยฟัง
เครื่องช่วยฟัง

แผนกตรวจการได้ยิน (โสตสัมผัสวิทยา และ การแก้ไขการพูด)

ให้บริการตรวจวินิจฉัยสมรรถภาพการได้ยินทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บริการตรวจการได้ยินมาตรฐาน ตรวจการทำงานของหูชั้นกลาง ตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง ตรวจการได้ยินระดับก้านสมองแบบแยกความถี่ ตรวจการทรงตัว ตรวจใส่เครื่องช่วยฟัง

รวมทั้งการบำบัดฟื้นฟูผู้ที่มีความผิดปกติด้วยการใส่เครื่องช่วยฟังที่เหมาะสม การฝึกฟัง ฝึกพูด การออกแบบพิมพ์หูให้เหมาะกับเครื่องช่วยฟัง และหูของผู้ป่วย บริการรับซ่อมเครื่องช่วยฟัง จำหน่ายแบตเตอรี่ อุปกรณ์เสริมเครื่องช่วยฟังประเภทต่างๆในราคามาตรฐาน และ ยังมีการติดตามผลการใช้งานอย่างสม่ำเสมอให้คำแนะนำด้านการศึกษา อาชีพ อารมณ์ สังคม และให้ความรู้ ในเรื่องการได้ยินแก่ผู้ป่วย และผู้สนใจทั่วไปที่มารับบริการอีกด้วย

เครื่องช่วยฟัง คือ อะไร ?

เครื่องช่วยฟังก็คือ เครื่องขยายเสียง ขนาดเล็กใช้ในผู้ที่มีปัญหาในการรับฟังเสียง ประกอบด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น ไมโครโฟน ลำโพง และเครื่องขยายเสียง ปัจจุบันมีหลายรูปแบบ และมีการพัฒนาคุณภาพ ให้ดีมากขึ้น

วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดของการเลือกเครื่องช่วยฟังก็เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้การได้ยินที่เหลืออยู่(Residual hearing)ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ได้เครื่องที่มีเสียงรบกวนน้อยที่สุดซึ่งจะส่งผลให้การฟังเข้าใจคำพูดดีขึ้น มีความเพี้ยนของเสียงที่ได้ยินน้อยลง

สาเหตุที่การเลือก และลองเครื่องช่วยฟังมีความสำคัญและมีความจำเป็นเนื่องจาก
  1. เครื่องช่วยฟังแต่ละชนิดมีคุณสมบัติและประสิทธิภาพแตกต่างกัน
  2. ระดับความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยินของแต่ละคนแตกต่างกัน รวมถึงปฏิกิริยาระหว่างผู้ใช้กับเครื่องช่วยฟังที่มาจากความแตกต่างกันในเรื่องของลักษณะทางกายวิภาค (Anatomy ของหู และ Canal resonance)
  3. การปรับแต่งเสียงให้เหมาะกับระดับการได้ยิน และความต้องการของผู้ใช้มักพบแตกต่างกัน

หลักในการเลือกเครื่องช่วยฟัง

การได้ทดลองฟังเสียงเปรียบเทียบในเครื่องช่วยฟังแต่ละรุ่นจะช่วยในการตัดสินใจซื้อได้อย่างดีที่สุด นอกจากนี้ยังต้อคำนึงถึง

  1. งบประมาณ
  2. รูปแบบ ทั้งแบบกล่อง แบบทัดหลังหู แบบใส่ในช่องหู แต่ละแบบ จะมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกัน
  3. ระบบคุณภาพเสียง
    • แบบธรรมดา (Analog) เป็นระบบการขยายเสียงที่เป็นมาตรฐานทั่วไป คือ ขยายทุกเสียงที่ผ่านเข้ามาจึงอาจจะก่อให้เกิดความรำคาญสำหรับผู้ที่ใช้งานได้
    • แบบดิจิตอล (Digital) เป็นพัฒนาการล่าสุดของเครื่องช่วยฟังสามารถขยายเสียงพูดได้ชัดเจน ลดเสียงรบกวนได้มาก และสามารถปรับแต่เสียงได้ตามความต้องการ
  4. กำลังขยาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องช่วยฟังระบบใดก็ตาม ควรเลือกเครื่องที่มีกำลังขยายเพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้
  5. แหล่งที่ซื้อ ความเชื่อมั่นว่าท่านจะได้เครื่องที่มีคุณภาพจริง รวมทั้งการบริการหลังการขายความสะดวกสบายในการรับบริการ

การเลือกหูเพื่อใส่เครื่องช่วยฟัง

ปัจจุบันการได้ยินเสียงยึดหลักว่าได้ยิน 2 หู ดีกว่าได้ยินหูเดียว ดังนั้นการใส่เครื่องช่วยฟัง 2 หู จะมีประโยชน์กว่าเนื่องจาก

  1. ช่วยให้เกิดความสมดุลของการรับฟังและสามารถแยกทิศทางของเสียงได้ดีขึ้น (Balance hearing-Localizing sound)
  2. สามารถแยกเสียงพูดออกจากเสียงรบกวนได้ดีขึ้นเมื่ออยู่ในที่มีเสียงรบกวน (Speech discrimination score)
  3. ใช้ความดังลดลง
  4. คุณภาพเสียงดีขึ้น เพราะมีความรู้สึกเป็นธรรมชาติ
  5. รู้สึกผ่อนคลายเพราะไม่ต้องคอยตั้งใจฟังหรือหันหูข้างที่ใส่เครื่องเข้าหาคู่สนทนา
  6. หูทั้ง2ข้างได้ใช้งานเหมือนกัน

อย่างไรก็ตามในบางครั้งผู้ที่สูญเสียการได้ยินทั้ง2ข้างอาจไม่มีความจำเป็นต้องใส่เครื่องช่วยฟังทั้ง2หู ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเลือกว่าจะใส่เครื่องช่วยฟังในหูข้างใดที่จะทำให้ท่านได้ประโยชน์ที่สุด และประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด

ท่านสามารถขอข้อมูลของเครื่องช่วยฟังได้จากแพทย์ หู คอ จมูก หรือนักโสตสัมผัสวิทยา (นักแก้ไขการได้ยิน) เพื่อไปศึกษาก่อนตัดสินใจใช้เครื่องช่วยฟัง

การตรวจการได้ยินมาตรฐาน (Audiometry)

หมายถึง การตรวจการได้ยินด้วยเครื่อง Audiometer ทั้งการนำเสียงทางอากาศ การนำเสียงทางกระดูก และการตรวจการได้ยินด้วยคำพูดเพื่อหาระดับเสียงที่เบาที่สุดที่ผู้ป่วยได้ยิน รวมถึงเปอร์เซ็นต์ของความสามารถในการฟังแยกเสียงคำพูด โดยคนไข้จะต้องให้ความร่วมมือ โดยการกดปุ่มหรือตอบสนองด้วยวิธีต่างๆ เช่น การยกมือ หรือพูดบอก ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10-20 นาทีต่อครั้ง

ตรวจการทำงานของหูชั้นกลาง (Tympanometry)

หมายถึง การตรวจเพื่อวินิจฉัยพยาธิสภาพภายในหูชั้นกลาง โดยการใส่ Ear tip ที่มีขนาดพอเหมาะกับช่องหู ผู้ป่วยจะได้ยินเสียงและลมดันในหูเล็กน้อย ผู้ป่วยนั่งนิ่งๆไม่ต้องทำอะไร ก็จะได้ผลออกมาภายใน1-2นาที

การตรวจการได้ยินระดับก้านสมอง (Audiotory Brainstem Response)

หมายถึง การตรวจเพื่อวินิจฉัยพยาธิสภาพตั้งแต่หลังประสาทหูชั้นใน(Retrocochlear) จนถึงก้านสมอง(Brainstem) ใช้ตรวจได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ กรณีผู้ป่วยเด็กที่ต้องให้ยานอนหลับ ต้องมีการเตรียมตัวก่อนตรวจคือ การงดน้ำ อาหารและยาทุกชนิดอย่างน้อย 4 -6 ชม. ก่อนให้ยา เพื่อป้องกันการสำลัก

กรณีผู้ใหญ่ สามารถตรวจได้โดยไม่ต้อง งด น้ำ ยา หรือ อาหาร ผู้รับการตรวจไม่ต้องทำอะไร นอกจากการนอนนิ่งๆ ผ่อนคลายหรือนอนหลับ ระยะเวลาที่ใช้ประมาณ30-60นาที ถ้าผู้ป่วยนิ่งและผ่อนคลายจะตรวจเสร็จเร็วขึ้น