ตรวจลานสายตา
ผู้ป่วยรายที่ 1
คุณลุงวัย 50 ปี ปวดศีรษะบ่อย ๆ ไปรับการตรวจจากแพทย์ที่อายุรกรรมมาแล้ว สงสัยอาจมีเนื้องอกในสมอง แพทย์ส่งมาตรวจลานสายตา
ผู้ป่วยรายที่ 2
คุณป้าวัย 60 ปี เป็นวัณโรคปอด รักษาด้วยยาประทาน แพทย์ส่งมาตรวจลายสายตาว่ามีผลข้างเคียงจากยารักษาวัณโรคหรือไม่
ผู้ป่วยรายที่ 3
คุณสมศรี ตรวจตาจากคลีนิคต่างจังหวัด หมอแนะนำมารับการตรวจลานสายตาเพื่อยืนยันว่าเป็นต้อหินหรือไม่ ฯลฯ
ทั้ง 3 เหตุการณ์ เป็นส่วนหนึ่งของผู้ป่วยที่มีลานสายตาผิดปกติ หรือนัยหนึ่งต้องใช้การตรวจลานสายตาช่วยการวินิจฉัยโรคที่เป็น แล้วลานสายตาคืออะไร ตรวจและต้องเตรียมตัวรับการตรวจอย่างไร
อาจพูดง่ายๆ ว่า ลานสายตา (visual field) คือความกว้างของการมองเห็นเมื่อตามองตรงมาข้างหน้า ไม่มีการกลอกไปมองหรือหันหน้าไปมอง โดยปกติถ้าตาจ้องตรงข้างหน้า นอกจากเห็นตรงกลางแล้วยังเห็นไปทางหางตาได้ 90° ด้านหัวตาและด้านบน 60° และด้านล่าง 75° (ทั้งนี้โดยไม่กลอกตาหรือขยับศีรษะ) โรคบางโรคอาจจะมีการเห็นลดลง เช่น ด้านหางตาลดลงเหลือ 10° บางโรคอาจไม่เห็นด้านล่าง การตรวจลานสายตาจึงช่วยในการวินิจฉัย
ปัจจุบันการตรวจลานสายตามีการใช้ computer เข้ามาช่วย เรียกกันว่า computerized visual field (CTVF) ทำเป็นโปรแกรมการตรวจที่จุดต่างๆ ทำเป็นโปรแกรมว่าจุดที่ใดบ้าง จำนวนเท่าใด จึงสามารถตรวจซ้ำด้วยโปรแกรมเดิมเพื่อดูว่าอาการเลวลงหรือไม่ ได้ง่ายขึ้น เครื่องตรวจเป็นเครื่องทรงกลมตรงกลางกลวง ผู้ป่วยเข้าไปนั่งอยู่จุดกึ่งกลาง ตรวจตาทีละข้างโดยปิดตาอีกข้างไว้ ใช้ตาข้างจะตรวจจ้องไฟตรงกลาง ไม่กลอกตาให้สัญญาณเมื่อเห็นไฟสว่างเกิดที่ใดก็ตาม
การเตรียมตัวเพื่อตรวจ CTVF
- เป็นการทดสอบการมองเห็น ไม่มีการหยอดตา ไม่เจ็บ
- ตรวจในห้องมืด เงียบ เพื่อให้ผู้ป่วยมีสมาธิในการตรวจ
- หากมีสายตาผิดปกติ มีแว่นใช้ประจำ ควรนำแว่นมาด้วยเสมอ
- เจ้าหน้าที่จะอธิบายวิธีตรวจอย่างละเอียด หากไม่เข้าใจควรสอบถามก่อน
- การร่วมมือที่ดี มีสมาธิในการตรวจ ตอบตามความเป็นจริง นำมาซึ่งการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
- ตาต้องจ้องจุดไฟที่เจ้าหน้าที่แจ้งไว้ ห้ามกลอกตาไปมา หรือมองหาแสง การกลอกตาไปมาทำให้การตรวจผิดพลาด
- เครื่องมีการทดสอบความร่วมมือเป็นระยะ
- สามารถกระพริบตาได้ตามปกติ
- ใช้เวลาทำข้างละ 10-20 นาที
- หากรู้สึกเมื่อยล้าแจ้งขอหยุดพักก่อนได้