Call Center

ความดันตา

บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก

ดวงตาคนเราเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม คล้ายลูกมะนาว เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 เซนติเมตร โดยประมาณ ภายในดวงตานอกจากประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ ช่วยในการมองเห็น เช่น แก้วตา ม่านตา จอตา ส่วนที่มากที่สุดคงเป็นส่วนที่เป็นน้ำ ซึ่งมี 2 ส่วน ส่วนน้ำข้างหน้าเป็นน้ำใสเรียกว่า aqueous ส่วนหลังเป็นน้ำวุ้นใสเช่นกัน แต่ค่อนข้างหนืดคล้ายไข่ขาวเรียกว่า vitreous น้ำทั้ง 2 ส่วน ทำให้ดวงตาคนเราทรงรูปอยู่ได้ หากเอาน้ำทั้ง 2 ส่วนนี้ออกถุงตาคงบูบี้ไม่เป็นทรง น้ำวุ้นส่วนหลังมีจำนวนค่อนข้างคงที่อยู่ตลอด จึงไม่ค่อทำให้ความดันตาเปลี่ยนแปลง น้ำใสส่วนหน้ามีการสร้างจาก ciliary body ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ภายในลูกตา โดยมีการสร้างด้วยอัตรา 2-2.5 ul ต่อนาที และไหลออกนอกลูกตาไปกับกระแสเลือด (scleral plexus) หากการสร้างและการไหลออกสม่ำเสมอใกล้เคียงกัน ความดันตาจะค่อนข้างคงที่ หากการสร้างมากขึ้นหรือไหลอกจากลูกตาลดลง ความดันตาจะเพิ่มขึ้น

เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าความดันตาที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่ต้อหิน ทำลายประสาทตาทำให้ตามัวลงๆ จนบอดได้ เราจึงต้องมีการตรวจวัดความดันตากัน ทั้งเพื่อการวินิจฉัยโรคและตรวจวัดผลการรักษาว่าได้ผลหรือไม่ เพราะดูเหมือนความดันตาเป็นตัวเดียวที่เราจับต้องตรวจได้ว่าการรักษาต้อหินได้ผลหรือไม่ อีกทั้งการรักษาต้อหินในปัจจุบันด้วยยา แสงเลเซอร์ และการผ่าตัดต่างก็มุ่งเพื่อลดความดันตาทั้งสิ้น การตรวจวัดความดันตาจึงเป็นการตรวจคัดกรองต้อหินเบื้องต้นที่สำคัญ

แล้วความดันตาที่ปกติเป็นเท่าใด?

มีการศึกษาวัดความดันตาในคนปกติจำนวนมาก พบว่ามีความแตกต่างกันบ้างระหว่างบุคคล เวลาที่วัด เครื่องมือที่วัดสามารถนำมา plot curve ได้ เป็นรูปทรงระฆังคว่ำ มีค่าปกติอยู่ระหว่าง 15.5 ± 2.57 มม ปรอท ซึ่งเมื่อคัดค่าสูงสุดโดยเพิ่มค่าเฉลี่ยอีก 2SD ซึ่งเท่ากับ 15.5+5.14 ได้ 20.5 มม ปรอท ซึ่งครอบคุมคนปกติได้ 95% จึงเป็นตัวเลขที่คนปกติไม่เกิน 21 มม ปรอท