Call Center

ความดันตาปกติก็เป็นต้อหินได้

มีบ้างไหมที่ผู้ป่วยเป็นต้อหินแต่ความดันตาปกติ

ต้อหินความดันตาปกติ (normal tension glaucoma)

โดยทั่วไปในการคัดกรองว่าผู้ใดเป็นต้อหินบ้าง มักใช้ผู้ใดที่มีความดันตาที่มากกว่า 21 มม ปรอท ให้สงสัยว่าเป็นต้อหิน ต้องรับการตรวจอื่นๆ เพื่อยืนยันว่าเป็นต้อหินจริง แต่ในความเป็นจริง ผู้ป่วยบางรายความดันตาน้อยกว่า 21 มม ปรอท แต่ตรวจลานสายตา ขั้วประสาทตา มีลักษณะเข้ากันได้กับต้อหิน ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จึงเรียกกันว่า normal tension glaucoma หรือ low tension glaucoma หรือต้อหินชนิดความดันตาปกติ ซึ่ง หลายๆ รายมีการดำเนินของโรคคล้ายต้อหินความดันตาสูง คือ ลานสายตาแคบลง ลามมาจนถึงสายตาตรงกลาง (central vision) ลดลงด้วย และอาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด

ตามคำนิยามของต้อหิน ในปัจจุบันกล่าวไว้ว่าเป็นโรคที่มีการทำลายประสาทตาอย่างช้าๆ เป็นเหตุให้มีลานสายตาปกติในเบื้องต้น ตามด้วยลานสายตาแคบลงๆ จนตาบอด โดยผู้ป่วยส่วนมากมีความดันตาที่สูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ในกรณีของต้อหินชนิดความดันปกตินี้ มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นซึ่งแตกต่างกันไป เช่น มีความผิดปกติของหลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงประสาทตา มีการหดเกร็งของหลอดเลือด (vasospasm) มีภาวะ migraine มีโรคภูมิคุ้มกันตัวเอง (autoimmune disease) ตลอดจนการปรับตัวของหลอดเลือดผิดปกติ (autoregulation defect) มีภาวะไม่หายใจเน้นช่วงเวลาหลับ (sleep apnea) อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไม่ได้พบในผู้ป่วยเหมือนกันทุกคน และปัจจัยเสี่ยงข้างต้นนั้น เราคงควบคุมได้ยากกว่าความดันตาสูงในผู้ป่วยต้อหินทั่วๆ ไป

ความดันตาปกติก็เป็นต้อหินได้
บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก

ในการวินิจฉัยและรักษาต้อหินชนิดนี้ ควรต้อง

  1. วัดความดันตาหลายๆ ครั้งในเวลาต่างๆ กัน บางคนอาจต้องมีการวัดความดันตาตลอดวัน เช่น วัดทุก 1-2 ชั่วโมง ตลอดวัน เพี่อหาว่าอาจมีบางช่วงของวันที่มีวรมดันตาสูงเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ควรให้ยาลดความดันตาในเวลาที่สูง
  2. สอบถาม ตรวจหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น และขจัดหรือรักษาปัจจัยเหล่านั้น ถ้าทำได้
  3. ติดตามการเปลี่ยนแปลงของลานสายตา ลักษณะขั้วประสาทตา ตลอดจนจำนวนเส้นประสาท (retinal nerve fibre) ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงเร็วต้องรีบให้การรักษา
  4. อาจต้องตรวจขั้วประสาทอย่างละเอียด วินิจฉัยแยกโรคที่มีความผิดปกติของขั้วประสาทที่อาจมีลักษณะคล้ายกันออกไป หรือหากพบการรักษาภาวะดังกล่าวจะช่วยให้รักษาสายตามิให้เลวลง
  5. ตรวจสอบยาที่ผู้ป่วยบางท่านอาจใช้อยู่ ที่อาจมีผลทำให้ความดันตาลดลง เช่น ได้ยา beta block รับประทานอยู่จากโรคหัวใจ (ผู้ป่วยส่วนมากที่รับประทานยานี้ไม่มีผลต่อความดันตา) จึงทำให้ความดันตาไม่สูง
  6. ตรวจสอบการวัดความดัน ว่ามีผิดพลาดจากเครื่องวัดหรือไม่ (โดยปกติควรตรวจสอบความแม่นยำของเครื่องสม่ำเสมอเป็นระยะ ๆ)
  7. วัดความหนาของกระจกตา เป็นที่ทราบกันดีว่า กระจกตาที่บาง ทำให้ค่าความดันตาที่วัดได้น้อยกว่าจริง ในยุคปัจจุบันที่มีการผ่าตัดแก้ไขสายตาสั้น มีการตัดเนื้อกระจกตาออกไป ทำให้กระจกตาบางลง อาจทำให้ค่าความดันตาคลาดเคลื่อนโดยน้อยกว่าความเป็นจริง
  8. อาจจำเป็นต้องตรวจคัดกรองโรคทางกาย ตลอดจนโรคทางสมอง ซึ่งอาจมีขั้วประสาทตาและลานสายตาผิดปกติคล้ายต้อหิน

อย่างไรก็ตาม การรักษาต้อหินชนิดนี้ก็คงคล้ายต้อหินชนิดความดันตาสูง ที่มุ่งเน้นลดความดันตาลงจากเดิม เพื่อคงไว้ซึ่งเส้นประสาทตาที่เหลือไม่ให้สูญเสียเพิ่มขึ้น