Call Center

ภัยจากการหยอดยาต้อหิน

คุณลุงวัย 60 ปี มีประวัติโรคหอบหืดตั้งแต่ยังหนุ่ม เมื่ออายุมากขึ้น อาการหอบหืดน้อยลง แต่ก็ยังมีบ้างเวลาอากาศเปลี่ยนแปลง มาสัปดาห์ที่แล้ว ไปรับการตรวจตาพบว่าคุณลุงเป็นต้อหินเรื้อรัง ความดันตา 30 มม ปรอท ทั้ง 2 ข้าง คุณหมอสั่งให้หยอดยารักษาต้อหินโดยให้หยอดวันละ 2 ครั้ง เมื่อหยอดยาครั้งแรกคุณลุงจะมีอาการอึดอัดกระวนกระวาย ยังฝืนหยอดยาในวันต่อมา เกิดอาการหอบหืดกำเริบ ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล

หลังจากได้ยาระงับหอบหืดจนอาการดีแล้ว จึงได้มาทบทวนว่าอาการหอบหืดของคุณลุงห่างหายไปสักระยะ ทำไมจึงกลับมาเป็นอีก พยามยามหาสิ่งกระตุ้นจึงพบว่า น่าจะเกิดจากยาหยอดตารักษาต้อหินนี่เอง ยาหยอดดังกล่าวเป็นยาในกลุ่มที่เรียกว่า beta adrenergic antagonist ซึ่งเรามักเรียกสั้นๆ ว่า beta block ซึ่งเป็นยาต้านหรือสะกัดกั้นการทำงานของ beta adrenergic receptor นั่นเอง

ภัยจากการหยอดยาต้อหิน
บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก

ยาตัวนี้เริ่มมีการนำมาใช้รักษาต้อหินในรูปยาหยอดในราวปลายปี ค.ศ. 1970 เป็นช่วงที่ทำให้ใช้ยาหยอดตารักษาต้อหิน สะดวกมากขึ้นผลข้างเคียงน้อยกว่ายาที่ใช้รักษาในขณะนั้น (มีเพียงยา pilocarpine และ epinephrine ที่มีผลข้างเคียงทำให้ตาแดง ปวดตา ตามัว) อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่ม beta block มีที่ใช้ทางกาย (ใช้รับประทาน) ที่ใช้รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหินสูง เจ็บหน้าอก มักจะมีผลข้างเคียง แต่ยากลุ่มนี้ในรูปยาหยอดตา ทั้งขนาดยา และน่าจะมีการดูดซึมเข้ากระแสเลือดน้อยมาก ผลข้างเคียงน่าจะน้อย แต่เมื่อมีการใช้ยาตัวนี้มากขึ้น จึงพบว่ามีโอกาสพบผลข้างเคียงต่อหัวใจ หลอดลม ทางเดินหายใจ (โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติโรคหอบหืดมาก่อน) ในปัจจุบันเรามักจะเลี่องการใช้ยาในกลุ่มนี้ในผู้ป่วยโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง มีปัญหาระบบหายใจ และผู้มีโรคหัวใจที่ยังควบคุมไม่ได้

ผู้ป่วยต้อหินจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีโรคหอบหืด โรคหัวใจ เพื่อป้องกันการกำเริบของโรคดังกล่าว นอกจากนี้ยา beta block ยังอาจมีผลอันไม่พึงประสงค์อื่น เช่น ภาวะซึมเศร้า ความจำเสื่อม กระตุ้นภาวะ myasthenia gravis หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอื่นๆ

โดยสรุปการใช้ยา แม้แต่ยาหยอดตา ก็อาจมีผลข้างเคียง ในผู้ป่วยบางราย ผู้ได้รับยาแต่ละอย่างควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น และแจ้งแพทย์ผู้ให้การรักษาเพื่อความปลอดภัยด้วย