Call Center

โรคตาที่มากับสายตาสั้น

สายตาสั้นทั่วๆ ไป อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก สายตาสั้นน้อยกว่า 600 (6 diopter) อาจจะเรียกว่าสายตาสั้นปกติ เป็นความแตกต่างจากคนสายตาปกติที่ถือเป็น normal variation กลุ่มที่ 2 อาจเรียกว่าโรคสายตาสั้น (pathologic myopia) ได้แก่ผู้ที่มีสายตาสั้นตั้งแต่ 600 ขึ้นไป มักจะพบความผิดปกติต่างๆ ต่อไปนี้ อนึ่ง บางท่านแม้สายตาสั้นมาก อาจไม่พบภาวะเหล่านี้ก็ได้ หรือสายตาสั้นปกติอาจพบภาวะเหล่านี้ แต่โดยทั่วไปมีจำนวนที่น้อยกว่า

ความผิดปกติส่วนหลังลูกตาที่พบบ่อยได้แก่

พบรอยหวำที่ขั้วประสาทตากว้างกว่าคนทั่วไป และไปมีลักษณะคล้ายที่พบในโรคต้อหิน (glaucomatous cupping) จนหมอให้การวินิจฉัยว่าอาจอยู่ในภาวะที่เรียกว่า suspected glaucoma อยู่ในข่ายสงสัยเป็นต้อหิน ต้องรับการตรวจละเอียดอย่างอื่นเพื่อสนับสนุน อีกทั้งจากสถิติ พบต้อหินในคนสายตาสั้นมากกว่าคนทั่วไป

ลูกตาส่วนหลังยื่นออกไปด้านหลัง (posterior staphyloma) ทำให้ลูกตาไม่เป็นทรงกลม ตาจะมัวลงสั้นลงอย่างรวดเร็ว

มีการฝ่อของชั้นจอตาและ choroid เป็นหย่อมๆ (chorioretinal atrophy) ทำให้ลานสายตาหายไปเป็นหย่อม ๆ หากเกิดขึ้นบริเวณ macula ทำให้ตามัวลงมาก

อาจมีรายฉีกขาดของ bruch membrane ในชั้น choroid ทำให้สายตามัวลงมาก ถ้าใกล้ macula อีกทั้งต้องระวังว่าอาจมีเลือดออกบริเวณนี้ ยิ่งทำให้สายตามัวลงมากขึ้น

อาจมีหลอดเลือดเกิดใหม่ในชั้น choroid ที่เรียกกันว่า choroidal neovascularization (CNV) คล้ายกับที่พบในผุ้ป่วยจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (age related macular degeneration = AMD) การเกิด CNV ในคนสายตาสั้น มีพยากรณ์โรคดีกว่า AMD อาจหายได้เองและไม่ค่อยมีการสูญเสียสาสายตา

การมีลูกตาที่ยาว นำไปสู่การเสื่อมของจอตาบริเวณขอบ (peripheral retinal degeneration) เกิดภาวะ lattice degeneration มีจอตาฉีกขาดและหลุดลอกตามมา

เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดจอตาส่วนกลางขาด (macular hole) ทำให้ตามัวลงโดยเฉพาะบริเวณตรงกลางจอตาหลุดลอก มีผู้ศึกษาพบว่ามีอากาสเกิดมากว่าคนปกติถึง 15 เท่า

ภาวะน้ำวุ้นหลุดลอก (posterior vitreous detachment = PVD) ทำให้ผู้ป่วยเห็นแสง flash มีอะไรลอยไปมา น้ำวุ้นตาเสื่อม ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอากาสพบจอตาฉีกขาดร่วมด้วยได้ 8-15% ถ้ามี PVD มักมีเลือดออกในน้ำวุ้นได้ 13-19% ประมาณ 60% ของผู้มี PVD ร่วมกันมีเลือดในน้ำวุ้นจะตรวจพบจอตาฉีกขาด

ความผิดปกติที่กล่าวข้างต้นจะตรวจพบได้ต้องตรวจตาโดยวิธีขยายม่านตาด้วย และต้องมีการตรวจซ้ำเป็นระยะด้วย ผู้มีสายตาสั้นมากจึงควรรับการตรวจด้วยการขยายม่านตาด้วย

บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก