Call Center

ตาบอดจาก filler

สาวๆ ที่นิยมฉีด filler ขอแนะนำให้อ่านบทความนี้

วิทยาการเสริมความงามบริเวณใบหน้าในปัจจุบัน ที่นิยมกันด้วยการฉีด (filler) เข้าในชั้นผิวหนังหรือใต้ผิวหน้าเพื่อเพิ่มหรือลด แก้ไข ลบบางส่วนบริเวณผิวหน้า ลดรอยย่นจากวัยหรือแสงแดด ลดรอยแผลเป็น เสริมบริเวณร่องแก้ม ริมฝีปาก คาง และจมูก

สารเติมเต็มที่ใช้กันในปัจจบัน แบ่งตามระยะเวลาที่ละลายหลังฉีดเข้าร่ายการออกเป็น
  1. แบบอยู่ชั่วคราว (temporally filler) อยู่ได้ประมาณ 6 เดือน ได้แก่ collagen, hyaluronic acid
  2. แบบกึ่งถาวร อยู่ได้นานกว่าแบบที่ 1
  3. แบบอยู่ถาวร ไม่สลาย เช่น silicone, paraffin สารเหล่านี้ถือเป็นสารแปลกปลอม มักจะไหลไปที่ต่างๆ สู่ที่ต่ำ ยังไม่ได้รับการรับรองจาก อ.ย. ของประเทศไทย
  4. สารไขมันตัวเอง (autologous fat) โดยใช้ไขมันบริเวณหน้าท้องหรือต้นขาของผู้ป่วยเอง

สารที่นิยมในปัจจุบัน คือ hyaluronic acid

แม้ว่าหลอดเลือดบริเวณผิวหน้า เป็นส่วนปลายขนาดจะเล็กลงและหลอดเลือดแดงมีแรงดันสูงก็ตาม แต่หากเข็มบังเอิญแทงเข้าไปในหลอดเลือด หากฉีดแรงและจำนวนมาก เลือดอาจไหลย้อนกลับไปยังหลอดเลือดส่วนต้น เช่น ophthalmic artery ไปยังหลอดเลือดที่เลี้ยงจอตา (central retinal artery) ทำให้หลอดเลือดนี้อุดตัน ทำให้ผู้ป่วยตามืดฉับพลันได้

ล่าสุดมีรายงานใน JAMA ophthalmology 2018 จากผู้ป่วยในประเทศจีน ในหัวข้อ ophthalmic artery occlusion after cosmetic facial filler injections

หญิงอายุ 20 ปีเศษ เกิดปวดตา ตามัว แทบจะมองไม่เห็นเลยในตาขวาอย่างเฉียบพลัน หลังจากรับการฉีดสารเติมเต็มบริเวณหน้า ตรวจพบสายตาข้างขวาบอดสนิท ไม่เห็นแม้แต่แสง การตรวจตาพบจอประสาทตาบวม หลอดเลือดแดงที่จอประสาทตาขาดเป็นตอน ๆ (box carring vessel) เห็นเม็ดสี xanthophy ที่ fovea จึงน่าจะมีการอุดตันของ central retinal artery และ ciliary artery แม้แพทย์จะพยายามแก้ไขด้วยหลายวิธี สายตาขวาก็ไม่กลับคืน โดยตรวจพบจอประสาทตาหลัง 3 เดือน จอประสาทตาฝ่อลง ขั้วประสาทตามีพังผืดรอบ หลอดเลือดจอตาไม่มีเลือดเข้าตา (ghost vessel) ตายังบอดสนิท

จอภาพ คาดว่าสารเติมเต็มน่าจะหลุดเข้าไปยังหลอดเลือดผิว ๆ เช่น supraorbital, supratrochlear และ dorsal nasal artery แล้วไหล (ตามลูกศร) ย้อนเข้ามาหลอดเลือดตอนต้นได้แก่ ophthalmic artery จากนั้น เมื่อหัวใจเต้น เลือดจาก ophthalmic artery ที่มีสารเติมเต็มบางส่วนจึงเข้าไปใน central retinal artery และ ciliary artery ทำให้หลอดเลือดทั้งสองอุดตัน เกิดสภาพดังกล่าว

บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก