ทำไมต้องขยายม่านตา
หลายๆ ท่านที่เคยไปรับการตรวจตา หมอบอกว่าต้องตรวจละเอียดด้วยการขยายม่านตา แล้วมันเป็นอย่างไร
ลูกตาคนเราเป็นทรงกลม เปลือกนอกสุดด้านหน้าเป็นตาดำและตาขาว ชั้นกลางเป็นชั้นของม่านตา ตรงกลางของม่านตาส่วนมากจะเป็นรูปกลม ๆ เรียกกันว่ารูม่านตา มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 มม. ทำหน้าที่หดตัวทำให้รูม่านตาขนาดเล็กเมื่อตาเจอแสง และขยายโตเมื่ออยู่ในที่มืด อวัยวะส่วนในประกอบด้วย แก้วตา จอตา ขั้วประสาทตา ซึ่งถูกบังจากม่านตา หากต้องการตรวจอวัยวะดังกล่าวให้ละเอียดต้องทำให้ม่านตาขยายออก วิธีง่ายที่สุดคือ ให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องมืด (จะเห็นว่าในการตรวจตา หมอมักจะทำในห้องมืด) ซึ่งมีผลทำให้ม่านตาขยายได้เล็กน้อย การทำให้ม่านตาขยายอีกวิธีคือ ใช้ยาหยอดขยายม่านตาจะขยายได้มากกว่า (ซึ่งมักจะเป็นขวด ซึ่งมีจุก หรือคาดด้วยกระดาษสีแดง จึงเป็นที่รู้กันในหมู่หมอตาว่า ยาจุกแดง เป็นยาขยายม่านตา)
การหยอดยาขยายม่านตามีประโยชน์ เพื่อ
- ช่วยในการตรวจส่วนต่างๆ ที่อยู่ภายในลูกตา หลังม่านตาได้แก่ แก้วตา น้ำวุ้นตา จอตา ได้อย่างละเอียด เช่น แก้วตาขุ่นมากแค่ไหน เป็นบริเวณใดของแก้วตา จอตาปกติหรือมีเลือดออก มีภาวะเบาหวานทำลายจอตาหรือไม่ เป็นต้น
- ช่วยในการผ่าตัดภายในดวงตา เช่น ผ่าตัดต้อกระจก ยิงเลเซอร์รักษาโรคจอตา การผ่าตัดภายในดวงตา ส่วนมากต้องมีการหยอดยาขยายม่านตาทั้งสิ้น
- ในกรณีมีการอักเสบภายในดวงตา ม่านตาจะไปเกาะส่วนต่าง ๆ ภายในลูกตา เช่น ติดกับแก้วตา น้ำวุ้นตา ก่อให้เกิดผลเสียในภายหลัง การขยายม่านตาจะช่วยลดภาวะนี้ได้
- ยาขยายม่านตาที่มีฤทธิ์ลดการทำงานของ ciliary muscle ลดอาการเพ่ง พักการทำงานของม่านตาและ ciliay body ทำให้ลดการอักเสบ และลดอาการปวดลงได้
- ยาขยายม่านตาที่มีฤทธิ์หดการเพ่ง ใช้รักษาภาวะตาสั้นเทียม ช่วยให้การวัดสายตาในเด็กได้แม่นยำยิ่งขึ้น (เรียกกันว่า cycloplegic refraction) สมควรในการทำแว่นตาคู่แรกในเด็ก หรือในเด็กที่มีภาวะตาเขจากสายตาผิดปกติ (accommodative esotropia) เป็นต้น
ผลตามมาจากการหยอดยาขยายม่านตา
- แสบตา เคืองตา ตาสู้แสงไม่ได้ เนื่องจากม่านตาไม่สามารถหดตัวเมื่อเจอแสง จนกว่ายาจะหมดฤทธิ์ โดยเฉลี่ยหมดฤทธิ์ที่ 4-6ชั่วโมง
- มองใกล้ไม่ชัด เนื่องจากยาขยายม่านตาบางตัวมีฤทธิ์กดการเพ่ง ทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการเพ่งมองใกล้ทำงานไม่ได้
- ยาขยายม่านตาบางตัว ทำให้คอแห้ง ผิวแห้ง ตัวแดง มีไข้ โดยเฉพาะในเด็ก
- ผู้ที่มีช่องหน้าตาแคบ การที่ม่านตาขยายอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะต้อหินเฉียบพลันได้