Call Center

น้ำวุ้นตาเสื่อม

น้ำวุ้นตาเสื่อม
บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก

Vitreous Floater น้ำวุ้นตาเสื่อม

น้ำวุ้นตา (vitreous) มีลักษณะวุ้นใสหนืดคล้ายไข่ขาว อยู่ในช่องด้านหลังลูกตา หลังแก้วตา มีปริมาตรถึง 4 ใน 5 ของลูกตา วางอยู่บนจอตา คล้ายไข่ขาววางอยู่บนเปลือกไข่ภายใน ตัวน้ำวุ้นประกอบด้วยน้ำถึง 99% ที่เหลือเป็นสาร hyaluronic acid, mucopolysaccharide, collagen fibril เป็นเส้น ๆ ที่เรียงตัวกันอย่างสม่ำเสมอทำให้มีลักษณะเป็นเจลใส แสงผ่านไปได้สะดวก ทำหน้าที่เลี้ยงเนื้อเยื่อในลูกตา ตลอดจนมีส่วนทำให้ลูกตาทรงรูปอยู่ได้ แม้ว่าน้ำวุ้นจะวางอยู่เฉย ๆ บนจอตา แต่มีบริเวณที่ยึดแน่นทางด้านหลัง คือที่ขั้วประสาทตา (optic disc) บริเวณจุดรับภาพ (macula) บริเวณหลอดเลือดของจอตา ส่วนด้านหน้ายึดแน่นกับบริเวณ ora serrata

ตัวน้ำวุ้นไม่ก่อให้เกิดโรคอะไร หากจะมีความผิดปกติ มักเป็นผลจากโรคของจอตาหรือหลอดเลือดจอตา อย่างไรก็ตาม น้ำวุ้นก็เหมือนอวัยวะอื่น เมื่ออายุมากขึ้น มีการเสื่อม ทำให้น้ำวุ้นที่เป็นเจลเสื่อมสภาพ (vitreous degeneration) เป็นน้ำไม่สม่ำเสมอ ความหนืดลดลง ส่วนที่เป็น collagen fibril มีการรวมตัวกันขนาดใหญ่ขึ้น รูปร่างต่าง ๆ ซึ่งอาจจะบังแสงที่จะตกไปยังจอตา ทำให้เจ้าตัวเห็นเป็นรูปร่างต่าง ๆ กัน บ้างก็เป็นจุด เป็นเส้น เหมือนแมลงหรือหยักไย่ตามรูปร่าง collagen fibril และจินตนาการของเจ้าตัวลอยไปมา รวมเรียกภาวะนี้ว่า vitreous floater เนื่องจากความผิดปกตินี้ทำให้เจ้าตัวเห็นเหมือนอะไรลอยไปมาตามการเคลื่อนไหวของลูกตาหรือการกลอกตา

ยังมีอีกภาวะหนึ่งที่อาจมาด้วยอาการของ vitreous floater แต่เกิดจากภาวะที่น้ำวุ้นบริเวณรอบขั้วประสาทตา ซึ่งเคยติดแน่นกว่าบริเวณอื่นหลุดออกมา ทำให้น้ำวุ้นส่วนหน้ากว่าที่เป็นน้ำไหลเข้าไปแทนที่ เกิดภาวะที่เรียกกันว่า posterior vitreous detachment (PVD) เนื่องจากขั้วประสาทตารูปร่างกลม จึงลอยในน้ำวุ้นกลมๆ ทำให้เจ้าตัวเห็นเป็น floater รูปร่างกลมลอยอยู่

ทั้ง vitreous degeneration และ PVD ส่วนมากทำให้เจ้าตัวเกิดความรำคาญที่เห็นอะไรลอยไปลอยมา และมาบังเป็นบางครั้ง อาจถือว่าเป็นความเสื่อมตามอายุ ไม่ทำให้สูญเสียการมองเห็น แต่อาจมีอาการไปคล้ายกับภาวะจอตาขาด จอตาฉีก และจอตาหลุดลอก ซึ่งเป็นภาวะอันตราย และส่วนน้อยภาวะอันตราย ดังกล่าวอาจเกิดตามหลัง การมี vitreous degeneration และ PVD ได้ มีบางรายที่มีภาวะ PVD ทำให้เกิดเลือดออก (vitreous hemorrhage) ตามมา

มาถึงปัญหาที่ผู้ป่วยกังวลว่าเมื่อไหร่จะหาย หรือนานเข้าจะเป็นอันตรายถึงขั้นทำให้ตาบอดหรือไม่ ส่วนมากของผู้ป่วยที่มี vitreous degeneration หรือ PVD อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นในหลายสัปดาห์ เช่น ขนาดของที่ลองมาเล็กลง นาน ๆ เห็นที่ ส่วนมากแทบจะไม่รบกวนเจ้าตัวในเวลา 6 เดือน อย่างไรก็ตามในบางรายอาจจะยังมีอาการไปอีกนาน แต่จะรบกวนเจ้าตัวน้อยลง โดยตะกอนกระจายขนาดเล็กลง และตกตะกอนไปอยู่ด้านข้างไม่ตรงแนวของการมองเห็น เจ้าตัวจึงรู้สึกอาการดีขึ้นหรือหายไป บางส่วนแม้จะยังมีอยู่มากเจ้าตัวเริ่มชินกับมันไปเอง บางรายที่สมองส่วนการรับรู้การเห็นสอนให้เพิกเฉยกับสิ่งที่ลอยไปมานั้น ในต่างประเทศ มีหมอที่พยายามใช้แสงเลเซอร์ยิงให้ขนาดของ PVD กระจายมีขนาดเล็กลงและตกตะกอน บางรายอาจทดลองทำผ่าตัด แต่บ้านเรายังไม่มีการทำผ่าตัดชนิดนี้ เพราะมีความเสี่ยงมากกว่าผลดีที่จะได้รับ

อย่างไรก็ตามหากยังเห็นหยักไย่อยู่นาน เป็นมากขึ้น ร่วมกับการเห็นแสง (flashing) ควรมารับการตรวจซ้ำเพื่อตรวจหาสภาวะจอตาฉีกและหลุดลอก ซึ่งอาจเกิดขึ้นตามมาในบางรายได้