Call Center

นี่เรามีอาการตาแห้งใช่หรือไม่ ?

นี่เรามีอาการตาแห้งใช่หรือไม่ ?
บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก

ตาแห้ง (Dry eye)

คนทั่วๆ ไปคงเข้าใจกันว่า ตาแห้ง คือ ปริมาณน้ำตาลดลงจนก่อให้เกิดอาการไม่สบายตาต่างๆ ความจริงภาวะตาแห้ง ปัจจุบันใช้คำว่า “dysfunctional tear syndrome” = DTS ซึ่งอาจแปลง่ายๆ ว่า การทำงานของน้ำตาที่ผิดปกติจนเกิดอาการต่างๆ ทั้งนี้ ความผิดปกตินี้อาจเกิดจากการสร้างน้ำตาลดลงในจำนวนหรือผิดที่ส่วนประกอบของน้ำตา ทำให้น้ำตาที่ฉาบผิวตาไม่คงตัว (unstable tear film) และมีความเข้มข้น (osmolarity) เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ทั้งนี้มักจะเกี่ยวข้องหรือมีความผิดปกติของเนื้อเยื่อผิวตาอันได้แก่ เยื่อบุตา ผิวตาดำ ผิวบริเวณ limbus (ตาขาวต่อทับตาดำ) เนื่องจากเราพูดกันโดยใช้คำว่าตาแห้งจนผิดปกติ ทุกคนจึงมักใช้คำว่าตาแห้งเป็นที่เข้าใจกันว่า มิได้หมายถึงปริมาณของน้ำตาลดลงอย่างเดียว

ในสมัยก่อน ประชากรไม่ค่อยมีปัญหาของตาแห้งเท่าปัจจุบัน อาจเป็นที่คนเรามีอายุยืนขึ้น (ตาแห้งพบมากในผู้สูงอายุ) ใช้ยารักษาโดยทางกายบางอย่างประจำ เป็นเหตุให้สร้างน้ำตาลดลง หรือการใช้เครื่อง IT ทั้ง computer, มือถือ, อุปกรณ์บนจอภาพมากขึ้น ทำให้ตาแห้ง ผู้คนใช้คอนแทคเลนส์ รับการผ่าตัด หรือได้รับสารเคมีที่ทำลายเซลส์ผิวตามากขึ้น ตลอดจนปัจจัยการดำรงชีวิต พบสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดภาวะตาแห้งมากขึ้น จึงทำให้มีผู้ป่วยมีปัญหาตาแห้งมากขึ้น

แล้วตาแห้ง มีอาการอะไรได้บ้าง

อาการของภาวะตาแห้ง ในผู้ป่วยที่อายุน้อย มักมาด้วยแสบตา เคืองตา เนื่องจากเมื่อ tear film (หมายถึงทั้ง 3 ชั้นของน้ำตา) ผิดปกติ น้ำตาแตกตัว (tear break up time) เร็วกว่าปกติจะกระตุ้นเส้นประสาทรับความรู้สึกทำให้แสบตา ตาฝืด ๆ เคืองตา ในคนสูงอายุ การรับรู้ความรู้สึก (corneal sensation) ลดลง จึงอาจไม่รู้สึกแสบตา เคืองตา แต่พอผิวกระจกตามีจุดแห้ง (dry spot) จะไปกระตุ้นวงจรประสาททำให้หลั่งน้ำตาเพิ่มขึ้น ทำให้มีอาการน้ำตาไหล เนื่องจากฟิล์มน้ำตาที่ปกติจะเรียบ มีการหักเหของแสงที่ปกติ มีหรือมี aberration น้อย ทำให้มีส่วนทำให้เห็นภาพชัดเจน เมื่อ tear film ผิดปกติ ผิวไม่เรียบ การหักเหของแสงผิด เกิด aberration ทำให้ตามัวลง แต่หากกระพริบภาพอาจชัดขึ้น เมื่อเกิดภาวะตาแห้งนำมาซึ่งการอักเสบเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้ผู้ป่วยมาด้วยอาการตาแดงได้ ผู้มีตาแห้งบางรายอาจใช้กระพริบตา หรือหยีตา หรือมาด้วยตาสู้แสงไม่ได้ เพื่อกระตุ้นการสร้างและเกลี่ยน้ำตาให้ทั่ว ๆ บางคนอาจมาด้วยไม่สบายตา ใช้สายตาไม่ทน เคยนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ได้นานก็ทำไม่ได้ คันตา ก็เป็นอีกอาการหนึ่งที่เกิดจากภาวะตาแห้งที่ไปกระตุ้นประสาทความรู้สึก ผู้ที่เคยใช้คอนแทคเลนส์จะรู้สึกว่าระยะหลังใช้คอนแทคเลนส์ไม่ได้ หากมีอาการแทรกซ้อนจากตาแห้งจนมีผิวกระจกตาเป็นแผลถลอก (epithelial defect) ตามด้วยกระจกตาบางลง มีการติดเชื้อ ทำให้เจ็บปวดตามากขึ้น

โดยสรุปภาวะตาแห้งมีอาการได้หลากหลายมาก และอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม