Call Center

แนวทางการรักษาตาแห้ง

ตาแห้ง (ตอนที่ 4)

แนวทางการรักษาตาแห้ง ได้แก่

  1. ปรับสิ่งแวดล้อม หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หลีกเลี่ยงสถานที่มีฝุ่นละออง ควันบุหรี่ ที่เป่าผมไม่ให้ใกล้ตา หลีกเลี่ยงการใช้พัดลม หรือ อยู่ในห้องแอร์นานๆ หากจำเป็นต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ควรจัดโต๊ะและเครื่องคอมฯ ตลอดจนการใช้แว่นตาที่เหมาะสม
  2. รักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น เปลือกตา/หนังตาอักเสบ ทำให้มีการทำลายต่อม Meibomian ซึ่งหากมีภาวะหนังตาอักเสบ ควรรักษาความสะอาดขอบตา ลดการใช้ยาต่างๆที่ทำให้มีการสร้างน้ำตาน้อยลง ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เป็นต้น
  3. การชดเชยน้ำตา ด้วย
    • 3.1 ใช้น้ำตาเทียม ซึ่งอาจเป็นรูปของน้ำใส เป็นเจล หรือ ขี้ผึ้ง แบบน้ำใสใช้ง่าย ไม่ทำให้ตามัว แต่ต้องหยอดบ่อย เพราะยาหมดอย่างรวดเร็ว แบบเจล หรือ ขี้ผึ้งอยู่ในตาได้นานกว่า แต่อาจเหนียวเหนอะหนะ ทำให้ตามัวลงมักนิยมใช้ก่อนนอน

      น้ำตาเทียมชนิดใส มี 2 แบบ คือ ชนิดมีสารกันเสีย มักบรรจุในรูปแบบเป็นขวด สามารถใช้ได้นานถึงประมาณ 1 เดือน, และชนิดรูปแบบที่เป็นกะเปาะ ไม่มีสารกันเสีย จึงใช้ได้ไม่เกิน 24 ชม. มักทำในรูปกะเปาะพลาสติคเล็กๆ มีน้ำตาเทียมอยู่ 4 – 8 หยด, ในกรณีตาแห้งมากต้องใช้น้ำตาเทียมบ่อยเกินวันละ 4 ครั้ง ควรใช้แบบไม่มีสารกันเสีย หากใช้แบบมีสารกันเสียวันละหลายๆหยด ตัวสารกันเสียอาจทำอันตรายต่อผิวกระจกตาได้

    • 3.2 ใช้ยาที่เป็นสารน้ำเหลืองจากเลือด (Serum) ของตัวเราเอง เรียกว่า Autologus serum ใบปัจจุบันพบว่าการใช้น้ำเหลืองจากเลือดของเราเอง อาจช่วยลดการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ ของลูกตา และต่อมน้ำตา เพราะมีสารต่อต้านเชื้อโรค ตลอดจนสารเร่งการฟื้นตัวกลับคืนสู่ปกติของเนื้อเยื่อได้ดีขึ้น
    • 3.3 ใช้เครื่องช่วยที่เรียกว่า Moist chamber เป็นวัสดุคล้ายแว่นตาเพิ่มความชุ่มชื้นให้ลูกตา (ไม่เป็นที่นิยม และยังไม่มีจำหน่ายในบ้านเรา)
    • 3.4 ยากระตุ้นการสร้างน้ำตาในรูปยาหยอดที่มีใช้ในบ้านเรา ได้แก่ยาหยอด Diquafosol เป็นยาจากประเทศญี่ปุ่น ไปกระตุ้น non goblet cell epithelium ให้สร้างน้ำตา mucin ออกมาขึ้น แต่ต้องใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอย่างน้อยหนึ่งเดือน ยังมียาประเภทใช้รับประทาน เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำตามากขึ้น ได้แก่ยาในกลุ่ม cholinergic agonist เช่น pilocarpine ไปกระตุ้นต่อมน้ำตาให้สร้างน้ำตามากขึ้น เพิ่มจำนวน goblet cell แต่มีผลข้างเคียง เช่น มีเหงื่อออกมาก จึงไม่ค่อยนิยมใช้กัน
  4. ภาวะตาแห้ง ขาดความสมดุลของผิวตา มักจะก่อให้เกิดการอักเสบแบบไม่ติดเชื้อได้ จึงอาจต้องให้ยาหยอดตาในกลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อได้ ซึ่งต้องใช้อย่างระมัดระวัง ภายใต้การดูแลและควบคุมของแพทย์
  5. ปัจจุบันมีการใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Immunosuppressant) บางชนิด เช่น ยา Cyclosporine ซึ่งทำให้ลดจำนวน T lymphocytes ลดปฏิกิริยาการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อในเยื่อบุตาและต่อมน้ำตา ทำให้มีน้ำตามากขึ้น มีสำเร็จรูปจากบริษัทยาในรูป emulsion ราคาค่อนข้างแพง ตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ อาจจะปรุงกันเอง ยามักจะแสบ
  6. อาหารที่มี โอเมกา 3 (Omega 3 fatty acid) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยลดการอักเสบ ในบางคนอาจช่วยให้ภาวะตาแห้งดีขึ้นได้
  7. การพยายามลดการระเหยของน้ำตาด้วยวิธีผ่าตัด หรือ ปรับกายวิภาคของเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ของตา เช่น
    • 7.1 การทำ Punctual plug เป็นการอุดบริเวณช่องทางที่ไหลออกของน้ำตา (Punctum) ลงสู่โพรงจมูก (อ่านเพิ่มเติมในบทความ กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา หัวข้อ กายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบน้ำตา) ซึ่งมีทั้งชนิดอุดชั่วคราว และชนิดอุดถาวร
    • 7.2 Punctal cautery ใช้จี้บริเวณช่องทางที่น้ำตาไหลออกจากตา ซึ่งเป็นการอุดบริเวณไหลออกของน้ำตาแบบถาวรไปเลย
    • 7.3 ปัจจุบันมีการใช้คอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษที่เรียก Scleral lens ซึ่งมีความโค้งที่แตกต่างจากคอนแทคเลนส์ธรรมดา ทำให้อุ้มน้ำตาอยู่ได้มากขึ้น
    • 7.4 การเย็บเปลือกตา/หนังตา บน – ล่าง เข้าหากันบางส่วน (Tarsorrhaphy) ในผู้ป่วยบางรายที่มีความผิดปกติของเปลือกตา/หนังตา
บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก