Call Center

แสงสีฟ้า ตอนที่ 2

โทษของแสงสีฟ้า

อันตรายจากแสงสีฟ้า (blue light hazard) เคยพูดกันมานาน ด้วยเหตุที่แสงนี้มีพลังสูง แสงกระจัดกระจาย สามารถผ่านกระจกตา แก้วตา ไปถึงจอตา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการมองเห็น แต่เดิมเราได้รับแสงสีฟ้าจากดวงอาทิตย์เป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบัน แสงสีฟ้ามาจากหน้าจอของเครื่อง electronic และเครื่อง digital ทั้งหลายที่ใช้กันมากขึ้น อีกทั้งคนเราทำงานหน้าจอมากขึ้น ประเมินกันว่ากว่า 60% ของประชากรอยู่หน้าจอมากกว่า 6 ชั่วโมง/วัน แม้แต่เด็กที่ใช้เล่นเกมส์กันวันละหลายชั่วโมง ทำให้คนเราได้รับแสงสีฟ้ามากขึ้น

เด็กดูเหมือนจะได้รับแสงสีฟ้ามากกว่าผู้ใหญ่ ด้วยจำนวนปีที่มีชีวิตอีกต่อไปที่นานกว่า อีกทั้งเด็กมีแก้ตาที่ใส ยอมให้แสงสีฟ้าผ่านไปถึงจอตาได้มากกว่าผู้ใหญ่ มีผู้ศึกษาพบว่าคนที่อายุน้อยกว่า 25 ปี แสงสีฟ้าผ่านเข้าถึงจอตาได้ถึง 65% ในขณะที่คนอายุมากกว่า 25 ปี ผ่านถึงจอตาได้ 20% เพราะเมื่อคนเราอายุมากขึ้น แก้วตาเริ่มเสื่อม มีสีเหลือง ซี่งดูดซับแสงสีฟ้าได้บางส่วน จึงไปถึงจอตาได้น้อยลง สำหรับผู้สูงอายุที่ผ่านการผ่าตัดต้อกระจกและฝังแก้วตาเทียมในยุคแรกๆ ไม่ได้คำนึงถึงโทษของแสงสีฟ้า แก้วตาเทียมสมัยเก่าไม่ได้ใส่สารกันแสงสีฟ้าไว้ ในปัจจุบันแก้ตาเทียมรุ่นใหม่ๆ จะมีสารดูดซับแสงสีฟ้าได้

ข้อเสียของแสงสีฟ้า ได้แก่

  1. เกิดอาการเมื่อยล้า ปวดตา แสบตา เคืองตา น้ำตาไหล ตาพร่ามัว ซึ่งมักเป็นในคนที่ทำงานหน้าจอ ซึ่งคาดว่าสาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นผลจากเห็นแสงสีฟ้าที่หน้าจอ ที่รวมเรียกว่า computer vision syndrome ซึ่งอาจเกิดจากเหตุอื่น ๆ เช่น กระพริบตาน้อย ตาแห้ง ตาต้องปรับโฟกัสบ่อย ๆ จากการที่แสงหน้าจอมี scatter มาก ยากต่อการโฟกัส
  2. มีผลต่อ circadian rhythm หรือนาฬิกาชีวิต หากได้รับแสงสีฟ้าจากหน้าจอเวลากลางคืน (ใช้ digital device ทำงาน) แสงสีฟ้าจากหน้าจอทำลายระบบนี้ทำให้ pineal gland สร้าง melatonin น้อยลง มีผลทำให้นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท
  3. นักวิจัยที่ Harvard เคยกล่าวไวว้ว่า การได้รับแสงสีฟ้าในเวลากลางคืน อาจจะเกี่ยวข้องกับโอกาสเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก ตลอดจนโรคหัวใจ โรคเบาหวาน ตลอดจนโรคอ้วน ซึ่งคาดว่าเป็นจากระดับสูงๆ ต่ำๆ ของ melatonin
  4. มีรายงานว่าอาจจะเพิ่มปัจจัยทำให้เกิดอาการซึมเศร้า
  5. อาจเป็นเหตุให้มีการทำลายเซลส์รับรู้การเห็นในจอตา ทำห้สายตามัวลง ๆ ซึ่งมีการศึกษาพบในสัตว์ทดลองและในห้องปฏิบัติการ แม้ว่าสงสัยว่ามีการถูกทำลายของเซลส์รับรู้การเห็น แต่ยังไม่ยืนยันแน่นอนว่าเป็นเหตุของโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (age related macular degeneration)
บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก