แสงสีฟ้า (ตอนที่ 4)
ปรับตัวให้เข้ากับยุค IT
ไหนๆ โลกเราก็มาถึงยุค IT กัน เกือบทุกคนใช้เครื่อง electronic วันละหลายชั่วโมง จะทำอย่างไรที่ทำให้เราใช้เครื่องเหล่านั้นอย่างปลอดภัย สบายตา ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ห่างไกลจากแสงสีฟ้าที่ดูเหมือนหลายๆ คนว่าอันตราย ขอเสนอแนะดังนี้
- วางโต๊ะคอมพิวเตอร์ในที่เหมาะสม อย่าหันหน้าจอสู่แสงไฟจากหลอดไฟในห้อง หรือแสงจากหน้าต่างเพื่อลด glare
- ตั้งจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ต่ำกว่าระดับตา เพื่อผู้ใช้ไม่ต้องแหงนหน้าบ่อยๆ ระยะจอคอมพิวเตอร์ห่างจากตาประมาณ 0.45-0.50 เมตร จัดเก้าอี้นั่งให้เหมาะสม
- ทำความสะอาดจอ ขจัดฝุ่นที่อนูเล็กๆ หน้าจอ เป็นต้นกำเหนิดให้เกิด glare ที่ไม่สบายตา
- ปรับ background ของจอแทนที่จะเป็นสีขาวจัด (bright white) ให้เป็น cool grey ที่สบายตากว่า
- เพื่อป้องกันแสงสีฟ้า อาจใช้แผ่นกรองสีฟ้าวางหน้าคอมพิวเตอร์
- อาจปรับหน้าคอมพิวเตอร์สำหรับ Windows 10 ปรับให้อยู่ใน mode “Night light” หริอถ้าเป็น Apple (Mac os) ปรับเป็น “Night shift” ตลอดจนใช้ mode iris mini หรือ flux ซึ่งขจัดแสงสีฟ้าไปได้ หรือบางรายอาจสวมแว่นตาที่เคลือบสารกันแสงสีฟ้า
- การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์มักทำให้กระพริบตาน้อยกว่าปกติ ทำให้ตาแห้ง อาจเตือนให้กระพริบตาหรือใช้น้ำตาเทียมช่วยเป็นระยะๆ
- มีคนเสนอสูตรการพักสายตาเป็นระยะๆ เป็นสูตร 20:20:20 คือใช้สายตาหน้าจอ 20 นาที แล้วมองไกลไป 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาที แล้วกลับมาทำงานหน้าจอใหม่ ทุก 2 ชั่วโมง ควรลุกจากที่นั่ง เปลี่ยนอิริยาบทซักครู่แล้วกลับมาทำงานใหม่
- คอยตรวจเช็คสายตาเป็นระยะ โดยเฉพาะหากมีอาการผิดปกติ
- คงยังไม่ต้องกลัวแสงสีฟ้ามากเกินไป อันตรายต่างๆ เป็นเพียงคาดว่าอาจจะทำลายจอตา แต่ในความเป็นจริง ร่างกายเรามีกระบวนการป้องกันตาตัวเองให้พ้นอันตรายจากแสงสีฟ้าอยู่บ้าง
บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก