Call Center

ตาเขเข้าในการจากการเพ่ง

ตาเขเข้าในการจากการเพ่ง (accommodative esotropia)

เร็วๆ นี้มีข่าวที่เด็กหญิงคนหนึ่งเล่นเกมส์ในมือถือมากจนเกิดตาเข ต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาแก้ไขภาวะตาเข ติดตามดูรายละเอียดของเด็กหญิงนี้มีภาวะสายตายาว (hyperopia) ระดับปานกลางจึงเกิดภาวะที่เรียกว่า accommodative esotropia ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยว่าตาเขเข้าในจากการเพ่ง ภาวะนี้อาจถูกกระตุ้นจากการใช้สายตามองใกล้มาก ตลอดจนการเล่นเกมส์มากเกินไป แต่ต้องมีภาวะผิดปกติที่มีสายตายาวปานกลางนำมาก่อน

ตาเหล่/ตาเข จากการเพ่ง เป็นภาวะตาเขเข้าในอันเนื่องมาจากมาสายตายาวกว่าปกติ กล่าวคือ ในคนปกติ เมื่อเราเหลือบตามามองวัตถุที่อยู่ใกล้ เช่น อ่านหนังสือ จะเกิดกระบวนการที่เรียกว่า near reflex โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้เพื่อช่วยมองวัตถุระยะใกล้ให้ชัด โดยจะเกิดปรากฏการ 3 อย่าง ได้แก่

  1. แก้วตา เพิ่มกำลังหักเหของแสงโดยการพองตัวออก (ขบวนการนี้จะเสื่อมหรือทำได้น้อยลง จนทำไม่ได้เมื่อายุมากขึ้น จึงทำให้ผู้สูงอายุมองใกล้ไม่ชัด)
  2. ลูกตากลอกเข้าในทั้ง 2 ข้าง (convergence) ร่วมกับ
  3. ม่านตาหดเล็กลง

เมื่อเกิดทั้ง 3 อย่างได้ดี ทำให้วัตถุระยะใกล้มาโฟกัสที่จอตาพอดี มีเด็กบางคนที่มีสายตาผิดปกติ ชนิดที่เรียกว่าสายตายาว (hyperope) คือกำลังการหักเหของตา (เกิดจากกระจกตาและแก้วตา) น้อยกว่าคนปกติ ทำให้โฟกัสไม่พอ มองวัตถุทั่วไปไม่ชัด เพื่อให้เห็นชัด แก้วตาต้องเพิ่มกำลังหักเหขึ้นมาตลอดเวลา จึงเสมือนเด็กเพ่งเพื่อมองใกล้ตลอดเวลา ลูกตาจึงมารวมกันที่หัวตา เกิดภาวะตาเขเข้าใน ยิ่งถ้าเด็กคนนี้ต้องการมองใกล้ต้องเพ่งมาขึ้นอีก เรียกภาวะนี้ว่า accommodative esotropia เด็กที่เกิดภาวะนี้มักจะมีลักษณะ

อายุประมาณ 2 ½ ปี (ประมาณกว่า 6 เดือน ถึง 7 ปี) ถ้าเป็นตั้งแต่แรกเกิด หรือมากกว่าอายุ 7 ปี มักจะไม่ใช่ภาวะนี้

ระยะแรก จะมีตาเขเข้าในเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะเวลามองใกล้ นานเข้าจะเขทั้งมองไกลและมองใกล้

ส่วนมากเด็กจะมีสายตายาวประมาณ 400 (300 ถึง 1,000) ถ้ายาวน้อยกว่า 300 มักไม่เกิดเพราะไม่ได้เพิ่มมากนัก หรือถ้ายาวมากๆ เด็กจะไม่เพ่งเลย เพราะเพ่งอย่างไรก็ยังมองไม่ชัด จึงไม่เกิดตาเข แต่จะเกิดภาวะตาขี้เกียจแทน

เด็กบางรายอาจมีอาการหลังมีการเจ็บป่วย หรือได้รับอุบัติเหตุ ผู้ปกครองจึงมักเข้าใจว่าเกิดจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุนั้นๆ บางรายอาจมีภาวะตาขี้เกียจร่วมด้วย

การรักษา

ตาเข/ตาเหล่ชนิดนี้ เป็นภาวะตาเขที่เกิดจากสายตาผิดปกติชัดเจน การแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยการใช้แว่นสายตาแต่เนิ่นๆ อาจรักษาให้หายตาเขโดยการใส่แว่นสายตาเท่านั้น การรักษาภาวะนี้จึงควรทำโดย

วัดขนาดสายตายาวที่ถูกต้องภายใต้การหยอดยา ลดการเพ่งที่เรียกว่า cycloplegie refraction คือใช้ยาหยอดตาที่มีฤทธิ์ทำให้ตาเพ่งไม่ได้ หรือทำให้ ciliary body ซึ่งทำหน้าที่บังคับให้แก้วตาพองขึ้น และยาที่ลดการเพ่งได้ดีที่สุดคือ atropine eye drop ทำให้ลดการเพ่งได้ดีที่สุด จะวัดได้ค่าสายตาที่ถูกต้องที่สุด

ให้เด็กใส่แว่นสายตาตามค่าที่วัดได้โดยต้องบังคับให้ใส่แว่นตลอดเวลา โดยทั่วไปถ้าใส่แว่น ค่าที่วัดได้ เด็กจะตาตรง ในระยะแรกๆ เด็กอาจไม่ยอมใส่เพราะรู้สึกว่าใส่แล้วตามองไม่ชัด เพราะเด็กจะเคยชินกับการเพ่งตลอด ซึ่งหมอมีวิธีทำให้เด็กไม่เพ่งด้วยการใช้ยาลดการเพ่งช่วย

เมื่อใช้แว่นแก้ไขสายตาแล้ว หากพบว่ายังเหลือตาเขเวลามองใกล้ ในขณะที่มองไกลเริ่มจะตรง อาจจะต้องปรับเลนส์แว่นตาเป็นเลนส์ 2 ชั้น เพิ่มกำลังเลนส์มองใกล้จะทำให้ตาตรงทั้งมองไกลและใกล้

บางรายแม้ใช้แว่น 2 ชั้นแล้วสักระยะ ยังเหลือตาเขอยู่บ้าง อาจพิจารณาผ่าตัดแก้ไขเพิ่ม หากพบว่ามีภาวะตาขี้เกียจร่วมด้วยให้แก้ไขไปพร้อมๆ กัน

โดยสรุป เด็กวัย 2-7 ปี มีตาเขเข้าใน ต้องรับการวัดสายตาโดยวิธีลดการเพ่งด้วยยาหยอดตา ให้สวมแว่นตาตามกำลังที่วัดได้ หลังสวมแว่น หากยังมีมุมเขในขณะที่มองใกล้ ให้ใช้แว่นตาที่มีเลนส์ 2 ชั้นช่วย หากยังมีตาเขเหลือ ควรแก้ไขที่เหลือ ด้วยการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาต่อไป

บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก