Call Center

ตาบอดสี ตอนที่ 1

ตาคนเรานอกจากมองเห็นวัตถุต่าง ๆ เห็นได้หลายระยะ ไกล กลาง และใกล้ เห็นวัตถุเคลื่อนไหวได้ และที่สำคัญอีกอย่างคือ เห็นสีสรรต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับความยาวของคลื่นแสงอะไรมากระทบตาเรา ความยาวคลื่นแสงที่ตาคนเราเห็นนั้นมีขนาด 400 – 700 นานอมิเตอร์ ให้สีต่างๆ กันเป็นสีหลักดังนี้

  • 400 nm ให้สีม่วง
  • 430 nm ให้สีคราม
  • 460 nm ให้สีฟ้า
  • 520 nm ให้สีเขียว
  • 575 nm ให้สีเหลือง
  • 600 nm ให้สีส้ม
  • 650 nm ให้สีแดง

ส่วนคลื่นแสงที่สั้นกว่า 400 nm หรือยาวกว่า 700 nm ตาคนเรามองไม่เห็น อันที่จริงคลื่นแสงขนาด 400-700 นานอมิเตอร์ เราสามารถแจกแจงได้ถึง 10 สี (บางคนเห็นมากกว่า) ตามการตรวจตาบอดสีซึ่ง Farnsworth Munsell 100 hue test ซึ่งแจกได้ 100 สี แต่สีหลัก ๆ เป็น 7 สีที่กล่าวข้างต้น

นอกจากอยู่ที่คลื่นแสงขนาดต่าง ๆ มากระทบแล้ว เรายังรับรู้สีได้จากเรามีเซลล์รับรู้การเห็น (photoreceptor cells) อยู่ 2 ชนิดในจอตาเรา

ชนิดแรก เป็นเซลล์รูปแท่ง เรียกกันว่า rod cell มีอยู่ประมาณ 125 ล้านตัวในตาข้างหนึ่ง เซลล์กลุ่มนี้จะกระจายอยู่บริเวณขอบ ๆ ของจอตา ทำหน้าที่ในการเห็นในที่สลัว และภาพที่เห็นออกมาเป็นขาวดำตามระดับความสว่าง สัตว์ที่หากินกลางคืนจะมีเซลล์รับรู้การเห็นชนิดนี้มาก คนเรามี rod cell จึงทำให้เราพอมองเห็นในที่สลัว ผู้ที่มีโรคที่มีการสูญเสีย rod cell จะเกิดภาวะตาฟางกลางคืน (night blindness) ได้แก่โรคจอตาผิดปกติบางอย่าง ตลอดจนคนที่ขาดวิตามินเอ

ชนิดที่ 2 เป็นเซลล์รูปกรวย (cone cell) คนเราจะมีอยู่ประมาณ 6-7 ล้านตัวในตาแต่ละข้าง เป็น cell ที่ทำให้มองเห็นชัดกว่า จะมีหนาแน่นบริเวณจอตาส่วนกลางที่เรียกว่า macula ทำหน้าที่มองเห็นในที่สว่างร่วมกับการเห็นสี ผู้ที่มีโรคบริเวณ macular มักจะตามัวมากร่วมกับการเห็นสีผิดปกติ เซลล์รูปกรวยนี้ในจอตาคนเรามีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่

  • เซลล์รูปกรวยสีแดง มีอยู่ในตาข้างละประมาณ 3 ล้านตัว มีสารสีแดงอยู่ในตัว จะดูดซับแสงคลื่นในช่วง 400 – 700 นานอมิเตอร์ แต่ที่คลื่น 570 นานอมิเตอร์ได้ดีที่สุด
  • เซลล์รูปกรวยสีเขียว มีสารสีเขียวในตัวและมีข้างละ 3 ล้านตัว ดูดแสงในช่วง 400 – 650 นานอมิเตอร์ แต่ที่ดีที่สุดที่ 540 นานอมิเตอร์ อยู่ในช่วงใกล้กับสีแดง
  • เซลส์รูปกรวยสีน้ำเงิน มีสารสีน้ำเงิน มีอยู่ 1 ล้านตัว ดูดซับแสงขนาด 380 - 500 โดยที่ 400 นานอมิเตอร์ดีที่สุด โดยสรุป คลื่นแสงสีต่าง ๆ เมื่อมากระทบจอตาส่วนกลาง (บริเวณ macula) cone cell จะทำงานทำให้เราเห็นภาพชัดและมีสีต่างๆ ตามขนาดความยาวคลื่น และชนิดของ cone cell ที่ถูกกระทบ หากกระทบ cone หลายสี ภาพที่ออกมาจะเป็นส่วนผสมของสีนั้นๆ
บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก