Call Center

ตาบอดสี ตอนที่ 3

ตาบอดสีแต่กำเหนิด ส่วนมากจะเป็นบอดหรือพร่องสีแดง และบอดหรือพร่องสีเขียว บอดสีแดงจะแยกสีได้ยากกว่าพร่องสีแดง ตัว Red cone และ Green อยู่ที่ X-chromosone ใกล้กัน ความผิดปกติของการเห็นสีแดงและสีเขียวจึงแยกกันค่อนข้างยาก ในการตรวจโดยใช้ screening test (คัดกรอง) ถ้าผิดปกติ จึงมักเรียกรวม ๆ ว่า red – green defect ต้องตรวจด้วยวิธีอื่นต่อเพื่อแยกว่าเป็น red หรือ green เป็นบอดหรือพร่อง ภาวะตาบอดสีมากับ X chromosome จึงถ่ายทอดมาจากแม่โดยแม่เป็นพาหะ เนื่องจากเพศหญิงมี sex chromosome เป็น XX แต่ชายเป็น XY ลูกชายจึงต้องได้ X มาจากแม่ ถ้าแม่มี X ตัวหนึ่งเป็นพาหะตาบอดสี จึงทำให้ลูกชายเป็นตาบอดสีได้ 50% ส่วนลูกสาวของหญิงที่เป็นพาหะจะได้ X จากแม่ตัวเดียว ถ้าพ่อปกติ ลูกสาวจะไม่มีภาวะตาบอดสี จากสถิติพบว่า ในประชากรมีภาวะตาบอดสี 8% โดยบอดสีแดง 1% บอดสีเขียว 1% พร่องสีแดง 1% และพร่องสีเขียว 5% เกือบทั้งหมดเป็นชาย ผู้หญิงมีบอดสีน้อยเพราะมี chromosome XX พบตาบอดสีได้ 0.5%

โดยสรุป ตาบอดสีขนิดเป็นแต่กำเหนิด มักจะพบในผู้ชายโดยมีแม่เป็นพาหะ มากับ X chromosome แม่ที่เป็นพาหะถ่ายทอดให้ลูกชาย 50% เขายังมองเห็นสี แต่เห็นไม่เหมือนคนปกติ ถ้านำวัตถุสีโดด เขาจะบอกสีได้ถูกต้อง แต่จะแยกสีที่อยู่ปนกันไม่ออก มีทั้งบอดสีหรือพร่องสีใดสีหนึ่ง จึงทำให้มีบอดสีเล็กน้อย ซึ่งยังพอแยกสีได้ กับบอดสีปานกลาง จนถึงบอดขั้นรุนแรง ซึ่งบอกได้จากการตรวจที่ละเอียด ส่วนมากจะตรวจออกมาว่าเป็นเล็กน้อย ซึ่งอาจไม่เป็นอุปสรรคต่อการแยกสีนัก กับบอดขั้นปานกลางถึงรุนแรง ซึ่งมีปัญหาในการแยกสี ทำให้ไม่เหมาะกับอาชีพบางอย่างที่จำเป็นในการแยกสี

โดยคนทั่วไปในชีวิตประจำวัน แม้จะมีความบกพร่องในการเห็นสีอาจไม่มีปัญหาในการดำรงชีวิต แต่อาจมีปัญหาในการเลือกสีสิ่งของ ตัดสินผลไม้ใกล้สุกไม่ได้ เลือกสีไหมที่ใช้เย็บปักไม่แม่นยำ เด็กนักเรียนอาจเลือกสีระบายภาพวาดไม่ถูกต้อง บางอาชีพที่การเห็นสีมีความสำคัญ ซึ่งผู้ที่บอดสีควรหลีกเลี่ยง เช่น ทหารในกองทัพ ผู้บังคับจราจรทางอากาศ วิศวกรไฟฟ้า เภสัชกร เจ้าหน้าที่ตรวจปฏิบัติการในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่อุตสหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น

บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก