กระจกตาติดเชื้อจากเชื้อปรสิต
ระวังเชื้อปรสิตเข้าตา
ข่าวใน UCL News เมื่อ 21 กันยายน 2018 พูดถึงการระบาดของการติดเชื้อกระจกตาในผู้ป่วยที่ใช้ contact lens จากเชื้อปรสิต ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยนัก ไม่ควรให้เกิดขึ้น เพราะบางรายรุนแรงทำให้ตาบอดได้
จากรายงานของ UCL ที่โรงพยาบาลตา Moorfield ในประเทศอังกฤษ พบกระจกตาอักเสบจากเชื้อปรสิต acanthamoeba ไม่มากนัก โดยพบ ได้โดยเฉลี่ย 2.5 รายในคนที่ใช้คอนแทคเลนส์ 100,000 คน ในอังกฤษตะวันออกเฉียงใต้ แต่มากเป็น 3 เท่าในปีนี้ ในจำนวนผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 1 ใน 4 จะมีสายตาเหลือไม่ถึง 25% หรือตาบอด แม้จะได้รับการรักษา ประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ป่วย ภาวะนี้ต้องลงเอยด้วยการเปลี่ยนกระจกตา นับว่าโรคนี้ค่อนข้างรุนแรงทำให้ตาบอดได้ แต่เป็นโรคที่ป้องกันได้
เชื้อปรสิต acanthamoeba พบได้ในน้ำดิน น้ำเกลือ น้ำที่ผ่านคลอรีน น้ำที่ใช้กับคอนแทคเลนส์ อีกทั้งน้ำยาทำความสะอาดคอนแทคเลนส์บางยี่ห้อก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อตัวนี้ได้ อันที่จริงกระจกตาอักเสบจากเชื้อตัวนี้พบได้แม้ในคนที่ไม่ได้ใช้คอนแทคเลนส์ที่ทำงานปนเปื้อนเศษดินเข้าตา แต่การศึกษาพบในคนใช้คอนแทคเลนส์ได้มากกว่า เชื่อว่าเมื่อเชื้อตัวนี้เข้าตาไปเจริญที่ชั้นผิว epithelium และเซลส์กระจกตา (keratocyte) มันสร้าง enzyme ย่อยและสลายกระจกตา ตามด้วยการอักเสบ เชื้อมักจะกระจายรอบๆ เส้นประสาท (corneal nerve) ทำให้ผู้ป่วยเจ็บปวดมาก บางครั้งดูแผลเล็กแต่อาการมาก แผลมีลักษณะเป็นรัศมี (radial keratoneuritis) หรืออาจเป็นวงแหวนที่เรียก ring ulcer
จากรายงานของ UCL news ได้ศึกษาผู้ป่วยโรคนี้จำนวน 63 ราย เทียบกับผู้ป่วยโรคตาอื่นที่ไม่ใช่โรคนี้ หาปัจจัยเสี่ยงดังนี้
- ผู้ป่วยมีสุขอนามัยเกี่ยวกับคอนแทคเลนส์ไม่ดีพอ
- ไม่ล้างมือและรอให้แห้งก่อนจับต้องคอนแทคเลนส์
- ใส่คอนแทคเลนส์ว่ายน้ำ ดำน้ำ ทำ spar
- อาบน้ำ ล้างหน้า โดยยังมีคอนแทคเลนส์อยู่ในตา
สำหรับประเทศเรา มีการใช้คอนแทคเลนส์กันอย่างอิสระ ผู้ใช้ส่วนมากไม่ค่อยเข้าใจหรือให้การดูแลคอนแทคเลนส์ไม่ดีพอ มีรายงานพบการติดเชื้อตัวนี้ประปราย และเช่นเดียวกับที่รายงานใน UCL News คือการวินิจฉัยค่อนข้างยุ่งยาก การรักษาก็ยุ่งยาก เพราเชื้อตัวนี้อาจอยู่ในรูปตัวเชื้อ (trophozoite) หรือหากอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่ดี เชื้อจะอยู่ในรูป cyst ซึ่งยุ่งยากในการทำลายมากขึ้น