Call Center

ยาหยอดชะลอสายตาสั้น

การชลอสายตาสั้นด้วย atropine

คัดจากรายงานของ AAO (American academy of ophthalmology) ใน journal ophthalmology : เดือนธันวาคม 2517 เป็นการรวบรวมรายงานหลาย ๆ อัน พูดถึงการป้องกันหรือชลอสายตาสั้นเพิ่มขึ้นในเด็กด้วยยา atropine โดยรวบรวมรายงานจากเดือนธันวาคม 2016 จำนวน 23 รายงาน (ที่ตรวจฉบับเต็ม) ซึ่งอ้างอิงถึงรายงานกว่า 98 ฉบับ

มีการอ้างอิงว่า อุบัติการของสายตาสั้นในสหรัฐเพิ่มจาก 25% มาเป็น 42% ระหว่างปี 1971 มา 1999 ยิ่งในประเทศแถบเอเชียยิ่งเพิ่มมากกว่า โดยเฉพาะประชากรในไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง มีถึง 90% ในผู้ใหญ่มีสายตาสั้น ตัวอย่างเช่น ในไต้หวัน เพิ่มจาก 5.8% ในปี ค.ศ. 1983 มาเป็น 21% ใน คศ 2010 ในเด็กอายุ 7 ปี

สาเหตุของการมีสายตาสั้นเพิ่มขึ้น บางคนสั้นมากขึ้น เร็ว ช้า แตกต่างกัน ยังไม่ทราบแน่ชัด แม้ว่าในปัจจุบันมีรายงานว่าการออกกลางแจ้ง การลดการใช้สายตามองใกล้ลง น่าจะลดหรือชลอการเพิ่มของสายตาสั้นลง การพยายามหาวิธีลดการเพิ่มของสายตาสั้นอีกประการหนึ่งก็เพื่อด้วยเหตุที่สายตาสั้นมาก จะมีลูกตายาวกว่าคนปกติ นำไปสู่โรคต้อหิน ต้อกระจก จอตาเสื่อม (myopic macular degeneration) และจอตาหลุดลอก ซึ่งหากเราลดภาวะนี้ได้น่าจะลดโรคต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้น

การพยายามชลอสายตาสั้นที่ทำกันบ้าง ได้แก่ การใส่แว่นตาน้อยกว่าจริง (undercorrect myopia) , แว่น mutifocus แว่นตาพิเศษ contact lens ต่าง ๆ orthokeratology, หยอดยา Timolol, หยอดยา pireazepine และ atropine จากการรวบรวมวิธีต่าง ๆ แล้วพบว่าการหยอดยา atropine น่าจะมีผลดีและเป็นไปได้สุด นำมาซึ่งการศึษาโดยให้หยอดยา atropine เพื่อศึกษาว่ามันได้ผลจริงไหม และศึกษาหาความเข้มข้นของยา atropine ที่เหมาะสม สรุปผลงานวิจัยดังนี้

  1. ผลต่อการเพิ่มขึ้นของสายตาสั้น พบว่าผู้ใช้ยา atropine จะมีอัตราเพิ่มของสายตาสั้นน้อยกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ใช้ยาหรือใช้ยาตัวอื่น และเนื่องจากผลข้างเคียงของ atropine มีมาก เช่น ตาพร่า สู้แสงไม่ได้ เคืองตา จึงมีการศึกษาด้วยความเข้มข้นต่าง ๆ พบว่า 0.01% ได้ผลดีและลดผลข้างเคียงดีที่สุด
  2. ช่วงที่หยุดหยอดยาจะมีการเพิ่มของสายตาสั้นมากขึ้น (rebound) หรือไม่ พบว่า 0.01% มีผลดีกว่าเปอร์เซนต์ที่ข้นกว่า อีกทั้งมีสายตาสั้นเพิ่มน้อยกว่า ทั้งเวลาที่หยอดยา และเวลาที่งดหยอดยา
  3. มีความยาวของลูกตา (axial length) เพิ่มขึ้นน้อยในกลุ่มที่ใช้ยา atropine 0.01% สรุปว่าการชลอสายตาสั้นด้วยยา atropine 0.01% เป็นจากความยาวตาที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่า
  4. ผลของความสามารถในการเพ่ง (amplitude accommodation) หลักหยุดยาไป 1 ปีพบว่า atropine ที่เปอร์เซนต์สูงทำให้กำลังการเพ่งลดลงมากกว่า คงต้องศึกษาระยะยาวว่าหากความสามารถการเพ่งลดลงมีผลอย่างไรในระยะยาว
  5. ผลต่อภาวะสายตาเอียงไม่ค่อยแตกต่างกัน เชื่อว่า ตาเอียงเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของกระจกตามากกว่า ตรวจ ERG มีการเปลี่ยนแปลงบ้างในการศึกษา แต่สรุปว่าไม่เกี่ยวกับขนาดความเข้มข้นของ atropine การวัดความดันตาไม่พบความแตกต่างระหว่างใช้ยาและไม่ใช้
  6. ผลข้างเคียงของยา ตัว atropine ได้รับการรับรองขององการอาหารและยาของ USA ในการรักษา amblyopia แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ในการชลอภาวะสายตาสั้น ผลข้างเคียงที่สำคัญคือ อาการแพ้แสง สู้แสงไม่ได้ เป็นผื่นคัน ตลอดจนมัว เวลามองใกล้ ซึ่งเป็นอาการชั่วคราว ไม่มีผลเสียอะไร แต่หากนำมาใช้ในภาวะนี้ ซึ่งต้องใช้ยาเป็นเวลานาน คงต้องติดตามผลจากการที่ม่านตาขยายทำให้ lens และจอตาได้รับแสง UV มากนั้นจะไม่มีผลอะไรหรือไม่
  7. จากการรวบรวมผลงานวิจัยนี้ ทำในชาวเอเชียมากกว่าในที่อื่น โดยการศึกษาที่อื่นที่ไม่ใช่เอเชีย มีรายงานประปรายด้วยจำนวนผู้ป่วยน้อย แม้ว่าส่วนใหญ่จะพบว่า atropine สามารถชลอการเพิ่มของสายตาสั้นอยู่บ้าง แต่มีข้อจำกัดที่จำนวนผู้ป่วยน้อย คงต้องใช้เวลาในการศึกษาต่อไป

โดยสรุป พบว่า atropine 0.01% เป็นยาที่ความเข้มข้นที่เหมาะสมทำให้ชลอภาวะสายตาสั้นได้ด้วยความยาวของลูกตาที่เพิ่มขึ้นน้อยลง (axial length) เพิ่มน้อยกว่ากลุ่มควบคุม แต่คงต้องหาว่ามีกลไกอย่างไรทำให้ axial length เพิ่มน้อย ตลอดจนต้องศึกษาว่าควรเริ่มหยอดเมื่อใด หยอดยาไปนานแค่ไหน ถึงจะเหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางการรักษาต่อไป

บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก