ต้อหินเฉียบพลัน
ต้อหินเฉียบพลัน
ต้อหินธรรมดาๆ ก็กลัวตาบอดจะแย่อยู่แล้ว คุณหมอบอกว่า เสี่ยงเป็นต้อหินเฉียบพลันยิ่งทำให้ตกใจใหญ่ วันนี้เราจะมาแนะนำโรคต้อหินเฉียบพลันและวิธีการป้องกันกันค่ะ
ต้อหินเฉียบพลัน คือ อาการที่ความดันในลูกตาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีอาการปวดตา ตาแดง มีอาการตามัว บางคนน้ำตาไหล โดยอาการปวดตามักเป็นในช่วงเวลาโพล้เพล้ และมักเป็นมากจนผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ บางคนถึงกับปวดหัวมาก แทนที่จะมาตรวจกับหมอตา กลายเป็นพบหมอสมองก่อนจนถึงกับได้ x-ray สมองกันทีเดียว การวินิจฉัยทำได้ง่ายมาก โดยกาารตรวจตาจะพบความดันตาที่สูงผิดปกติ และการมองเห็นที่มัวลง เป็นหลักโดยมีสาเหตุที่พบบ่อยๆ ดังนี้
- ช่องด้านหน้าลูกตาแคบ ซึ่งช่องด้านหน้าของลูกตานี้เป็นที่ระบายน้ำในลูกตา ดังนั้นเมื่อช่องนี้แคบก็มีโอกาสที่การระบายน้ำในลูกตาจะลดลงและทำให้ความดันตาเพิ่มสูงขึ้นได้ อาจพบภาวะนี้ในคนไข้ สายตายาว ต้อกระจกที่ปล่อยไว้จนสุก หรือ เลนส์แก้วตาเคลื่อนจากอุบัติเหตุ หรือโรคบางอย่าง นอกจากนี้ยาบางชนิด เช่น ยากันชัก (topiramate) ยาลดน้ำมูก ยารักษาอาการซึมเศร้าบางชนิด นอกจากนี้การหยอดยาบางประเภท ก็เป็นสาเหตุของอาการนี้ได้
- มีอาการอักเสบในลูกตา ทั้งโรคม่านตาอักเสบ และการอักเสบที่เกิดจากต้อกระจกที่สุกจนเกิดการอักเสบ
การป้องกันไม่ให้เราเป็นต้อหินเฉียบพลันก็ไม่ได้ยาก
- รับการตรวจสุขภาพตา โดยเฉพาะกลุ่มคนไข้เสี่ยง เช่นมีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน มีสายตายาว หรือมีการกินยาบางประเภทดังที่ได้กล่าวข้างต้น
- ทำการเลเซอร์เพื่อเปิดช่องด้านหน้าลูกตาในกรณีที่มีช่องหน้าลูกตาแคบ
- ทำการลอกต้อกระจก อย่ารอให้สุก เพราะมีความเสี่ยงเป็นต้อหินเฉียบพลันได้
บทความโดย
พญ. เพ็ญพรรณ หิรัญโชติ
จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต้อหิน รพ. ตา หู คอ จมูก