Call Center

ต้อหินเฉียบพลัน สำคัญอย่างไร?

ความสำคัญของต้อหินเฉียบพลัน

  1. เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณย่า คุณยาย คุณป้า ต้องตาบอด (ต้อชนิดนี้พบมากในหญิงสูงอายุ)
  2. ต้อหินเกือบทุกชนิด มักลงเอยด้วยตาบอด หากไม่ได้รับการรักษา แต่มักจะบอดอย่างช้าๆ แต่ต้อหินชนิดนี้อาจบอดในเวลาไม่กี่วัน
  3. นอกจากบอดแล้ว ยังมีอาการปวดเป็นที่ทรมานมาก จนผู้ป่วยบางคนยอมหรือเรียกร้องให้เอาตาออก ยอมถูกควักลูกตาเพื่อลดอาการปวดในสมัยก่อน (เป็นสิบยี่สิบปีแล้ว) ในปัจจุบันเรามีวิธีการรักษาที่ดีขึ้น โอกาสตาบอดและปวดจนต้องควักตาออกน้อยลง (ถ้ามาพบหมอเร็ว)
  4. บางคนตาบอด แต่ยังไม่ปวดมาก (ในกรณีมารับการรักษาลดความดันตาได้ลง) มักจะมีอาการไม่สบายตา อาจมีแสบตา เคืองตา น้ำตาไหล คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมในตาตลอดเวลา

ดูแล้ว ต้อหินเฉียบพลันเป็นโรคที่น่ากลัวจัง แล้วเรามีข้อสังเกตว่าญาติผู้ใหญ่เราท่านใดมีโอกาสเป็นตลอดจนมีข้อสังเกตง่ายๆ อย่างไร

  1. มีประวัติต้อหินฉับพลันในครอบครัว จากกายภาพที่คล้ายๆ กัน มีช่องหน้าตาแคบ ควรสนใจในผู้สูงอายุ อายุยิ่งมากช่องหน้าตาจะยิ่งแคบลง จึงมีโอกาสพบโรคนี้ได้มาก
  2. มีสายตายาว (hyperope) เป็นผู้ที่จำเป็นต้องใช้แว่นตาเลนส์นูน (กำลังเป็นบวก) ตั้งแต่อายุก่อน 40 ปี
  3. บางคนอาจมีประวัติปวดตาเวลาอ่านหนังสือ เวลาใช้สายตาใกล้ เวลาพลบค่ำ เวลาอากาศสลัวๆ ปวดตาบ้างเล็กๆ น้อยๆ คล้ายเป็นอาการเตือน (intermittent attack) นอนพักอาการหายไป มีอาการเช่นนี้เป็นๆ หายๆ หลายครั้ง
  4. ตกเย็นมีอาการเห็นสีรุ้งรอบดวงไฟ (เป็นอาการเตือนอีกอันหนึ่ง)
  5. อาการที่ชัดเจน ได้แก่ ลักษณะ 3 อย่าง คือ ปวดตา (บางคนปวดร้าวทั้งศีรษะ) ตามัวและตาแดง
  6. ในบางรายต้อหินเฉียบพลันอาจเกิดในผู้สูงอายุที่เป็นต้อกระจกนำมาก่อน ไม่ยอมรับการผ่าตัด จึงมักจะพบในผู้สูงอายุที่อาจเป็นต้อกระจกมานาน หมอแนะนำให้ผ่าตัดแล้วไม่ยอม ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจะมีตามัวนำมาก่อน ถ้าเป็นต้อกระจกจะต้องตามัวอย่างเดียว ต้องไม่ปวดตาไม่แดง

คราวนี้กำลังสงสัย เป็นแล้วควรทำอย่างไรดี

ต้องไปพบจักษุแพทย์ทันที ภาวะนี้ถือเป็นโรครีบด่วน (emergency) ทางตาอันหนึ่ง การรักษายิ่งเป็นผลดี ผู้ที่มาพบแพทย์เร็วอาจจะหายขาดจากโรค ตากลับมาเป็นปกติด้วยการใช้แสงเลเซอร์ (laser iridotomy) เท่านั้น ในรายที่มาช้า การยิงเลเซอร์อาจได้ผลไม่ได้เต็มที่ ต้องตามด้วยการหยอดยาลดความดันตาไปตลอดชีวิต หรือบางรายต้องรับการผ่าตัด ซึ่งยุ่งยาก และอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมา

บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก