การตรวจต้อหิน
แล้วมีการตรวจอะไรบ้างล่ะ ในรายการตรวจคัดกรองต้อหิน
- วัดระดับสายตาว่ามีการมองเห็นเท่าคนปกติหรือไม่ ในระยะหลังๆ ของโรคมีการสูญเสียสายตาร่วมด้วย ตามด้วยตาบอดในที่สุด
- วัดความดันตาด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า pneumotonometer ที่ไม่ต้องสัมผัสดวงตาไม่มีการเจ็บปวด หากมีค่าสูงเกิน 20 มม.ปรอท อยู่ในข่ายสงสัยเป็นต้อหิน ในบางรายหากค่าที่ได้จาก pneumotonometer ไม่แน่นอน อาจต้องวัดด้วย applanation tonometer ต่อ
- วัดว่ามีสายตาสั้น เอียง ยาว อยู่หรือไม่ด้วยเครื่อง computer บางท่านอาจมีสายตาสั้นมาก ซึ่งมักจะพบต้อหินได้บ่อย
- ตรวจขั้วประสาท (optic disc) ด้วย Ophthalmoscope ดูขนาดหลุม (cupping) กลางขั้วประสาท ค่าปกติไม่ควรเกิน 0.5 ของขนาดขั้วประสาทตา หลุมที่กว้างแสดงถึงการสูญเสียใยประสาทตาที่มาก ซึ่งอาจมีการถ่ายขนาดของหลุมนี้ไว้ด้วย (fundus photography)
- ตรวจด้วย slit lamp ดูส่วนหน้าของตา อาจมีอาการแสดงบางอย่างที่บ่งบอกว่าน่าจะมีต้อหิน เช่น exfoliation, krukenberg spindle, iris hypo hyperpigment เป็นต้น
- ตรวจดูมุมตา (gonioscopy) เพื่อแยกชนิดของต้อหินว่าเป็นมุมแคบ มุมปิด หรือมุมเปิด
- ตรวจลานสายตา เนื่องจากต้อหินเรื้อรังมักทำลายลานสายตาด้านข้าง (sidevision) ก่อนเสมอ ปัจจุบันใช้เครื่องชนิด computerized perimeter ซึ่งตรวจได้ละเอียดเป็นมาตรฐาน ตรวจซ้ำจุดเดิมเพื่อดูความน่าเชื่อถือ
- วัดความหนาของกระจกตา (corneal pachymetry) เพื่อความแม่นยำของระดับความดันตาที่วัดได้ กล่าวคือถ้ากระจกตาหนา มักจะวัดความดันตามากกว่าจริง โดยประมาณว่าถ้าหนากว่า 525 ไมครอน จะพบความดันตามักจะวัดได้สูงกว่าจริง 1-3 มม.ปรอทต่อ 40 ไมครอนที่หนามากกว่า 525
- ล่าสุด ตรวจ OCT (Optical coherence tomography) โดยเครื่องจะยิงแสงใกล้ infrared เข้าไปภายในตา จะได้ภาพออกมาเป็น 3 มิติของขนาดขั้วประสาทตา บอกถึงจำนวนเส้นประสาท (retinal nerve fibre = RNF) ที่เหลือ ถ้าเหลือน้อยแสดงว่ามีการสูญเสีย RNF มาก ซึ่งเท่ากับสูญเสียลานสายตากว้างมากนั่นเอง
ผู้ป่วยบางรายอาจไม่ต้องตรวจให้ครบตามข้างต้นก็วินิจฉัยได้แล้ว การตรวจหลายๆ อย่างจะช่วยยืนยันผลการวินิจฉัยที่ถูกต้องมากขึ้น อีกทั้งใช้ติดตามผลการรักษาต่อไป
บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก