Call Center

การใช้ชีวิตสำหรับผู้ป่วยต้อหิน

ผู้ป่วยต้อหินเป็นโรคเรื้อรังอย่างที่ทราบกันดี ผู้ป่วยส่วนใหญ่ควบคุมความดันตาได้ด้วยยาหยอด และหมอมักจะแจ้งว่าต้องหยอดตลอดชีวิต เพื่อป้องกันการเสื่อมของเซลส์ประสาทตาในจอตา (ganglion cell) การใช้ชีวิตประจำวันและสิ่งที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติ คือ

  1. หยอดยาสม่ำเสมอ เคร่งครัดตามที่หมอสั่ง การขาดยานำไปสู่การสูญเสียสายตาเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ซึ่งไม่อาจสังเกตได้เอง
  2. เพื่อป้องกันการลืมหยอด อาจมีวิธีอิงกับกิจกรรมประจำวัน เช่น ยาหยอดวันละ 2 ครั้ง อาจหยอดก่อนอาหารเช้าและก่อนนอน การทำเป็นกิจวัตรจะทำให้ไม่ลืม
  3. หากมีโรคทางกายควรแจ้งให้หมอทราบ เพราะยาหยอดบางตัวอาจมีผลเสียต่อโรคทางกาย หรือมีฤทธิ์เสริมหรือขัดกันกับยารับประทาน
  4. การออกกำลังกายทำได้หรือไม่ ทำได้ เช่น คนปกติ กีฬาบางอย่าง เช่น ตีแบต หรือเทนนิส อาจเห็นลูกไม่ชัดในบางช่วงที่ตรงกับลานสายตาที่เสียไป ควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษโดยทั่วไป การออกกำลังมักทำให้ความดันตาลดลงชั่วคราวเท่านั้น ล่าสุด มีรายงานไว้ใน Medicine and Science in sport รายงานว่า การออกกำลังกายสม่ำเสมอพบต้อหินน้อยกว่าคนไม่ออกกำลังกาย 50% การออกกำลังกายสม่ำเสมอดีต่อสุขภาพทั่วไปอยู่แล้ว จะมีผลดีหรือไม่ต่อภาวะต้อหิน เราทุกคนก็ควรทำอยู่แล้ว
  5. อาหาร มีรายงานว่าผักใบเขียวอาจชลอการสูญเสียสายตาจากห้อหิน ล่าสุด มีรายงานใน Journal of neuroscience ถึง ketogenic diet อันได้แก่อาหารลด carbohydrate ไปเพิ่มไขมัน โดยมีสัดส่วนอาหารไขมัน 80-90% โปรตีน 8-15% และ carbohydrate 2-5% อยู่ในระยะคล้ายอดอาหารในภาวะมี ketone มากขึ้นในสัตว์ทดลอง พบมีการชลอการตายของ ganglion cell ซึ่งมีผลดีต่อผู้ป่วยต้อหิน อาหาร ketogenic diet มีในผักเขียวที่แป้งน้อย ได้แก่ผักสลัด ผักเขียว บล็อคเคอรี่ เนื้อไม่ปรุงแต่ง งดกล้วยและแอปเปิ้ลที่ให้น้ำตาลสูง เรื่องนี้มีการศึกษาอยู่บ้างว่าน่าจะได้ผลดีต่อโรคต้อหิน คงต้องรอการศึกษาจำนวนมากขึ้นๆ
  6. ระหว่างกาแฟกับชา มีรายงานว่า การดื่มชาที่เหมาะสมมีผลดี เพราะชามีสาร antioxidant ป้องกันการเสื่อมของร่างกาย รวมทั้งบริเวณ trabecular meshwork ซึ่งเสื่อมเมื่อเป็นต้อหิน
  7. มีความเชื่อถือกันในสมุนไพรที่ชื่อ Gingko biloba (แปะก้วย) โดยเชื่อว่าเป็นสาร neuroprotection และมี antioxidant มีผลดีต่อผู้ป่วยต้อหิน
  8. มีอยู่ระยะหนึ่งมีรายงานว่าการใช้ computer เครื่อง digital ทั้งหลายอาจทำหรือเร่งให้เป็น ซึ่งมาระยะหลังพบว่าไม่ใช่ การใช้เครื่องเหล่านี้จึงทำได้ เช่น คนปกติ
บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก