Call Center

ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

ปัจจุบันพบว่ามีประชากรไทยเป็นเบาหวานถึง 5 ล้านคน อาจแบ่งชนิดของเบาหวานที่เรียกกันว่า type I สำหรับผู้ที่ไม่มีหรือขาด insulin มักพบในเด็ก พบได้ร้อยละ 4 ส่วน type II เป็นชนิดพร่อง insulin พบในผู้ใหญ่ พบมากถึงร้อยละ 95 และในชนิด type II มีถึง 1 ใน 3 ไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน กว่าจะมารับการรักษาก็มักเป็นหลายปีมาแล้ว

เป็นที่ทราบกันดีว่าเบาหวานทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดทั่วร่างกาย ทั้งหัวใจ สมอง ไต รวมทั้งตา ความผิดปกติทางตามีหลายอย่าง ที่สำคัญและเป็นเหตุให้คนเป็นเบาหวานตาบอดมากว่าคนปกติ คือภาวะเบาหวานทำลายจอตา (diabetic retinopathy = DR) ทั้งนี้เพราะภาวะ DR ระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการอะไรเลย ยังคงมีสายตาที่ปกติ ซึ่งหากตรวจพบระยะแรกสามารถรักษามิให้ลุกลามจนยากแก่การักษา เนื่องจากไม่มีอาการผิดปกติทำให้มารับการตรวจช้าเกินไป จึงมีข้อเสนอนแนะให้ผู้ป่วยเบาหวานควรรับการตรวจหาภาวะ DR โดยไม่ต้องรอให้มีอาการดังนี้

  1. ผู้ป่วยเบาหวานอายุ 0-30 ปี มักเป็นชนิด type I อาการทางกายมักจะรุนแรง ทำให้กุมารแพทย์และอายุรแพทย์ตรวจพบโรคได้เร็ว และได้รับการรักษาทันที กลุ่มนี้ควรตรวจดูภาวะ DR เมื่อพบเป็นเบาหวานแล้ว 5 ปี และติดตามตรวจทุกปี
  2. ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นเมื่ออายุตั้งแต่ 31 ปี มักเป็นชนิด type II ซึ่งมีอาการทางกายน้อยมาก กว่าจะได้รับการวินิจฉัยมักเป็นเบาหวานแล้วหลายปี จึงแนะนำให้รับการตรวจหาภาวะ DR ทันทีที่พบว่าเป็นเบาหวานและติดตามปีละครั้ง หรือตามจักษุแพทย์นัดหมาย
  3. ผู้ป่วยเบาหวานที่วางแผนคาดว่าจะมีการตั้งครรภ์ควรตรวจตาก่อนหรือตรวจตาในไตรมาสแรก และติดตามตรวจซ้ำทุก 3 เดือน จนคลอด
อนึ่ง เวลาที่เสนอแนะนั้นสำหรับผู้ป่วยเบาหวานทั่วไปที่ยังไม่มีความผิดปกติทางตา หากมีอะไรผิดปกติควรตรวจก่อนเวลาที่เสนอแนะ

แม้จะโชคร้ายที่เป็นเบาหวาน หากดำรงชีวิตที่เหมาะสม ควบคุมภาวะเบาหวานให้ดี รับการตรวจตาเป็นระยะ ก็น่าจะมีชีวิตที่ดี สายตาที่ดีเฉกเช่นคนปกติได้

บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก