Call Center

สถานการ์ณตาบอดในประเทศไทย

สาเหตุตาบอดในประเทศไทย

เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบจำนวนคนตาบอดในประชากรโลกจากประเทศต่าง ๆ ได้ องค์กรอนามัยโลกได้ให้คำนิยามคนตาบอดไว้ใช้เหมือนกัน โดยกำหนดไว้ว่า คนตาบอด หมายถึงคนที่มีสายตาในข้างดีกว่าเห็นน้อยกว่า 3/60 หรือมีลานสายตาแคบกว่า 10 องศา ด้วยเหตุที่สายตาข้างดีขนาดนี้มักจะช่วยตัวเองไม่ได้ จากคำนิยามนี้ ถ้าคนใดตาบอดหนึ่งข้าง ข้างที่ดีกว่าเห็นปกติหรือดีกว่า 3/60 จึงไม่ใช่คนตาบอด ด้วยนิยามนี้พบว่าในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว มีเศษฐานะดี พบจำนวนคนตาบอดเป็น 0.1-0.4% หรือ 1-4 คนต่อประชากร 1,000 คน และโรคที่ทำให้ตาบอดมักจะเป็นโรคความเสื่อมที่รักษาไม่ได้ โรคทางกรรมพันธุ์ที่ยังรักษาไม่ได้ ตลอดจนโรคที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน หรือโรคที่รักษาไม่ได้

ส่วนประเทศด้อยหรือกำลังพัฒนา พบคนตาบอดได้ 0.5-1.5% หรือ 5-15 คนในประชากร 1,000 คน และมักเป็นโรคที่รักษาได้ แต่อาจรักษาไม่ทัน หรือจำนวนแพทย์มีไม่พอที่จะรักษาได้แก่ โรคต้อกระจก แผลติดเชื้อที่ตาดำ ภาวะขาดวิตามินเอ ตลอดจนพยาธิในตา จำนวนคนตาบอดของประชากรในแต่ละประเทศ อาจบอกถึงความเจริญทางสาธราณะสุขทางการแพทย์ของประเทศนั้น

ประเทศไทยมีการสำรวจว่ามีคนตาบอดเท่าใด มา 4 ครั้ง ครั้งที่ 5 ที่ทำเมื่อปี พ.ศ. 2556 นั้น สำรวจเฉพาะคนมีอายุ 50 ปีขึ้นไป จึงไม่ขอเอามาเปรียบเทียบในกลุ่มนี้

  • ครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2526 พบจำนวนคนตาบอด 1.14% (574,470 คน)
  • ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2530 พบจำนวนคนตาบอด 0.58% (309,860 คน)
  • ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ. 2537 พบจำนวนคนตาบอด 0.31% (180,704 คน)
  • ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ. 2540 พบจำนวนคนตาบอด 0.59% (396,013 คน)
การสำรวจทั้ง 4 ครั้ง พบว่าสาเหตุจากโรคต้อกระจกมากที่สุด โดยพบ 47.1% (ครั้งที่ 1), 713% (ครั้งที่ 2), 74% (ครั้งที่ 3), 51.6% (ครั้งที่ 4)

ในการสำรวจครั้งที่ 4 พบคนตาบอด 0.59% นั้นเกิดจากต้อกระจก 56.61% ต้อหิน 10.4% จอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ 3.88% ตาดำเป็นฝ้าขาว 1.23% สายตาผิดปกติโดยไม่แก้ไข 14.11% ต้อกระจกยังเป็นสาเหตุตาบอดที่สำคัญในบ้านเรา ด้วยเหตุที่เป็นโรคพบได้เกือบทุกคนในผู้สูงอายุ เกิดจากความเสื่อมของแก้วตาตามอายุ คนเรายิ่งมีอายุยืนขึ้นยิ่งจะพบต้อกระจกมากขึ้น เราคงต้องมีจำนวนจักษุแพทย์ที่เพียงพอกับการผ่าตัดแก้ไข เพื่อให้ต้อกระจกไม่เป็นปัญหาสำหรับบ้านเราอีกต่อไป

บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก