Call Center

โรคจอประสาทตาในเด็กแรกเกิด (ROP)

เมื่อเช้าได้ข่าวจากโรงพยาบาลชารีฟ แมรี่ เบิรช เมืองซานดิเอโก้ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ว่าสามารถเลี้ยงทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักแรกเกิดเพียง 245 กรัม รอด (ประเมินกันว่าหนักเท่ากับลูกแอปเปิ้ลขนาดใหญ่ 1 ลูก) โตจนมีน้ำหนัก 2,500 กรัม และนับเป็นทารกแรกเกิดที่น้ำหนักน้อยที่สุดที่มีชีวิตรอดในขณะนี้ แสดงถึงความก้าวหน้าของวงการกุมารแพทย์ ทำให้นึกถึงโรคทางตาหนึ่ง ที่พบในเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักน้อย ที่ปัจจุบันเรียกกันว่า retinopathy of prematurity (ROP) ซึ่งมีชื่อเดิมว่า retrolental fibroplasia (RLF) ตามพยาธิสภาพที่เห็นพังผืดหลังแก้วตา หรืออาจเรียกอีกชื่อว่า Terry disease เป็นเกียรติแก่จักษุแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ Theodre Lastor Terry เป็นคนแรกที่อธิบายพยาธิสภาพและการกำเนิดของโรคนี้

พยาธิกำเนิดของ ROP อธิบายได้ว่า เนื่องจากจอตาคนเราตั้งแต่อยู่ในครรภ์เริ่มมีหลอดเลือดมาเลี้ยงจอตา โดยเริ่มจากจุดกลางจอตา คือขั้วประสาทตา (optic disc) เมื่ออายุในครรภ์ 4 เดือน หลอดเลือดจะแตกสาขาไปถึงขอบจอตา (periphery retina) โดยพบว่าจะมาถึงขอบตาด้านใน (ด้านจมูก) เมื่ออายุครรภ์ 8 เดือน แต่ต้องใช้เวลาอีก 2 เดือน ถึงจะเจริญมาสุดขอบจอตาด้านนอก (temporal) ซึ่งหมายความว่าจะสมบูรณ์เมื่อเค้าคลอดออกมาแล้วหนึ่งเดือน จึงไม่ต้องสงสัยว่าเด็กคลอดก่อนกำหนด หลอดเลือดยังไปไม่ถึงขอบจอตา จึงยังไม่สมบูรณ์ หลอดเลือดที่ไม่สมบูรณ์นี้มีความไวต่อระดับออกซิเจนในเลือดมาก คือหากมีระดับออกซิเจนในเลือดสูงจากที่เราพยายามช่วยชีวิตเด็กน้ำหนักตัวน้อยแรกเกิดที่หายใจไม่คล่อง เมื่อออกซิเจนในหลอดเลือดทั่วไปสูง ทำให้หลอดเลือดที่กำลังสร้างขึ้นที่ขอบจอตาตีบลง หากตีบระยะสั้นคือออกซิเจนไม่สูงมาก หลอดเลือดดังกล่าวอาจกลับคืนปกติได้ แต่ถ้าตีบอยู่นานจนไม่คลายตัวจนจอตาส่วนขอบ (peripheral retina) ขาดเลือดไปเลี้ยง จึงเกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ (neovascular) ขึ้น (ซึ่งเป็นลักษณะของหลอดเลือดจอตา แม้ในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคที่จอตาขาดเลือดจะเกิดหลอดเลือดใหม่เพื่อช่วยตัวเอง) หลอดเลือดเกิดใหม่นี้มีผนังอ่อนแอพร้อมจะฉีกขาด อีกทั้งการเกิดหลอดเลือดใหม่มักจะมีเนื้อเยื้อพังผืด (fibrovascular) ร่วมด้วย จึงมีโอกาสดึงรั้งจอตาให้หลุดลอก นั่นคืออาจมีเลือดออก หรือจอตาหลุดลอกได้ง่าย นำมาซึ่งตาบอด หากเด็กได้รับการตรวจและดูแลจากจักษุแพทย์ สามารถยับยั้งหลอดเลือดเกิดใหม่ และแก้ไขการดึงรั้งจากเนื้อเยื่อพังผืดมิให้จอตาหลุดลอก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มีการแนะนำเด็กแรกคลอดต่อไปนี้ควรตรวจตาเพื่อวินิจฉัยภาวะนี้ ดังนี้

  1. มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 30 สัปดาห์ลงมา
  2. มีน้ำหนักแรกคลอดตั้งแต่ 1,500 กรัมลงมา
  3. แม้ทารกมีน้ำหนัก 1,500 – 2,000 กรัม แต่มีปัญหาทางกาย เช่น มีการหายใจไม่สะดวก มีอาการไม่น่าไว้ใจ เช่น เด็กที่มีภาวะโรคปอดที่เรียกว่า pulmonary hyaline membrane ตลอดจนมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น
บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก