Call Center

เราเหมาะกับเลนส์แก้วตาเทียมแบบไหน?

เมื่อเป็นต้อกระจกถึงระยะควรรับการผ่าตัดเอาต้อกระจกออก การผ่าตัดเป็นการเอาเลนส์ธรรมชาติที่เป็นโรคออก ปัญหาที่ตามมา คือ ผู้ป่วยจะมีสายตายาว เพราะการหักเหของแสงที่ทำให้ตาเรามองเห็นอาศัยกระจกตา และเลนส์ธรรมชาติ นั้นจึงเหลือแต่กระจกตาอย่างเดียว ซึ่งในปัจจุบัน ทำโดยฝังเลนส์แก้วตาเทียม (intraocular lens = IOL) เข้าแทนที่ อีกทั้งในปัจจุบันแก้วตาเทียมมีการพัฒนาดีขึ้นมาก มีหลายอย่างคล้ายเลนส์แว่นตา ที่มีทั้งมองไกลหรือใกล้อย่างเดียว หรือมองได้หลายระยะที่เรียกว่า progressive lens แก้วตาเทียมในปัจจุบัน จึงมี

  • IOL ที่มีโฟกัสเดียว (monofucus)
  • IOL แก้สายตาเอียง (Toric lens)
  • Toric multifocus (แก้เอียงและเห็นหลายระยะ)

ปัญหาก็คือ แล้วเราเหมาะกับ mutifocus ซึ่งเห็นได้หลายระยะหรือไม่ ราคาก็แพงกว่า monofocus lens

ผู้ที่เหมาะสำหรับการใช้ multifocal IOL

  • มีกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาหลายระยะยในเวลาเดียวกัน เช่น ต้องมองไกล ดูคอมพิวเตอร์ อ่านหนังสือ
  • เน้นผู้ที่ปฏิเสธการใช้แว่นสายตาอย่างมาก (อยากเลิกใส่แว่นในทุกโอกาส)
  • ผู้ที่มีสายตายาว (hyperope) อยู่เก่า แล้วเริ่มมีสายตาผู้สูงอายุตามด้วยต้อกระจก มักจะปรับกับข้อเสียของเลนส์ชนิดนี้ได้ดีกว่าผู้มีสายตาสั้นมาก ร่วมกับมีสายตาเอียง
  • เป็นคนยอมรับและเข้าใจข้อไม่ดีของเลนส์ชนิดนี้
  • ควรมีความคิดที่พร้อมจะฝังเลนส์ชนิดนี้ทั้ง 2 ตา หรือทำตาที่สองในไม่นาน การทำทั้ง 2 ตาทำให้ปรับตัวกับเลนส์ชนิดนี้ได้ดีกว่า
  • ยอมรับการผ่าตัดเพิ่มเติมหากจำเป็นจริงๆ
  • ไม่มีโรคทางตาที่มีผลต่อการมองเห็นมาก่อน เช่น โรคกระจกตา ต้อหิน จอตาลอก จอตาเสื่อม ผู้ป่วยกลุ่มนี้ทำให้การวัดกำลังของเลนส์ไม่แม่นยำ คลาดเคลื่อนได้ง่าย กำลังที่คลาดเคลื่อนมีผลต่อการมองเห็นมากกว่า monofocal IOL
  • ควรจะมีเครื่องวัดกำลังของ lens ที่ละเอียด แม่นยำกว่าเครื่องวัดรุ่นเก่าๆ

ผู้ที่ไม่ควรใช้ mutifocal IOL

  • ผู้ที่เคยใส่ monofocal IOL มาแล้วในตาข้างหนึ่ง และพึงพอใจผลการผ่าตัดอยู่แล้ว
  • ไม่มีปัญหาในการใช้แว่นสายตาบางโอกาส
  • ผู้มีสายตาเอียงชนิด irregular และ 2 ข้างที่เอียงต่างกันมาก
  • ผู้ต้องใช้สายตาเวลากลางคืน ต้องขับรถกลางคืน หรือนักบิน เพราะ multifocal IOL ทำให้ contrast sensitivity ลดลง การมองเห็นเวลากลางคืนไม่สู้ดี
  • ผู้ที่เคยมีปัญหาในการใช้แว่นสายตาชนิด bifocal หรือแว่น progressive คาดว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะปรับตัวเข้ากับ multifocal IOL ได้ยากกว่า
  • ผู้ที่ต้องการความคมชัดของสายตามาก ไม่ใช่พอมองเห็น โดยเฉพาะบางอาชีพที่ต้องการความคมชัดมาก
  • ผู้ที่เคยทำผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ (refractive surgery) มาก่อน อาจทำให้การวัดและคำนวณกำลัง IOL ไม่แม่นยำ
บทความโดย
ศ.พญ. สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก