โรคจุดภาพชัดเสื่อมในผู้สูงอายุ (age-related macular degeneration หรือ AMD)
จุดภาพชัดคืออะไร?
จุดภาพชัด (macula) คือบริเวณศูนย์กลางของจอประสาทตา ซึ่งทำหน้าที่ในการรับภาพที่มีความคมชัดและส่งข้อมูลไปยังสมอง ทำให้เกิดการมองเห็นขึ้น
โรคจุดรับภาพชัดเสื่อมในผู้สูงอายุคืออะไร?
คือโรคที่เกิดจากความเสื่อมของบริเวณจุดรับภาพชัด ทำให้สูญเสียการมองเห็น โดยเฉพาะส่วนกลางของภาพ มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียการมองเห็นในกลุ่มผู้สูงอายุ 1
ปัจจัยเสี่ยงได้แก่อะไรบ้าง?
- มีอายุมากกว่า 50 ปี
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคจุดภาพชัดเสื่อมในผู้สูงอายุ
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน
- สูบบุหรี่เป็นประจำ
โรคมีกี่ชนิด?
- ชนิดแห้ง (wet AMD) พบเป็นส่วนใหญ่ เป็นความเสื่อมที่เกิดขึ้นช้าๆบริเวณจุดภาพชัด ไม่พบหลอดเลือดงอกผิดปกติ มีโอกาสพัฒนาเป็นแบบเปียกได้ในบางราย
- ชนิดเปียก (dry AMD) พบได้ 15-20% ของโรคจุดรับภาพชัดเสื่อมในผู้สูงอายุ ซึ่งชนิดนี้ลักษณะเฉพาะคือเกิดหลอดเลือดผิดปกติงอกขึ้นมาใหม่ หลอดเลือดนี้มีความเปราะบาง ทำให้เกิดการแตกหรือของเหลวรั่วซึมได้ จึงมีเลือดออกหรือจุดภาพชัดบวมตามมา เกิดความเสียหายของจุดภาพชัด และสูญเสียการมองเห็นในส่วนกลาง
อาการเป็นอย่างไร?
หากเป็นระยะแรกเริ่ม หรือบริเวณที่ผิดปกติมีขนาดเล็กอาจไม่มีอาการ หรือไม่สังเกตเห็นอาการ เมื่อตัวโรคลุกลามขึ้นจะเกิดอาการผิดปกติของการมองเห็นบริเวณกลางภาพ ได้แก่
- มองเห็นภาพไม่ชัด สีผิดเพี้ยน
- เห็นภาพหรือเส้นบิดเบี้ยวจากความเป็นจริง
- มีเงาดำบังบริเวณส่วนกลางของภาพ ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการเจ็บปวด ไม่มีตาแดงร่วมด้วย
ความเสื่อมอาจจะเกิดข้างเดียว หรือเสื่อมไม่เท่ากันระหว่างตา 2 ข้าง ทำให้การมองเห็นโดยรวมยังดี ไม่กระทบชีวิตประจำวัน คนไข้อาจไม่ได้สังเกตอาการ หรือบางครั้งนิ่งนอนใจไม่เข้ารับการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ
“การตรวจรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นและมีความต่อเนื่องเป็นหัวใจสำคัญในการป้องกันการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรที่เกิดจากจุดภาพชัดเสื่อมในสูงอายุแบบเปียก”
สังเกตอาการในระยะเริ่มต้นได้อย่างไร?
- หมั่นสังเกตความผิดปกติการมองเห็นด้วยตนเอง ปิดตาทีละข้างเพื่อเปรียบเทียบการมองเห็นของตาแต่ละข้าง
-
ทดสอบการมองเห็นด้วยแผ่นภาพแอมสเลอร์ (Amsler grid) ด้วยตนเองที่บ้าน
- ทดสอบทีละข้าง
- สวมแว่นตาที่ใช้อ่านหนังสือ
- ถือตารางในระยะอ่านหนังสือหรือประมาณ 14 นิ้ว
- มองที่จุดตรงกลาง หากเห็นเส้นคด ขาดออกจากกัน หรือจุดดำกลางตาราง แสดงถึงความผิดปกติ
- หากมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์
- ตรวจตาประจำทุก 1-2 ปีโดยจักษุแพทย์ เมื่ออายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่ที่มีปัจจัยเสี่ยงร่วม อาจพิจารณาตรวจตาตั้งแต่อายุ 40 ปี
รักษาอย่างไร?
ชนิดแห้ง: ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะ
- แนะนำปรับพฤติกรรมอันเป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น งดบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- อาหารเสริม (Antioxidant และ mineral supplement) ตามการศึกษา AREDS และ AREDS2 ช่วยลดความเสี่ยงของการดำเนินโรคไปสู่ระยะสุดท้ายได้ 25% ได้ผลเฉพาะในคนไข้บางระยะของโรคเท่านั้น
ชนิดเปียก: ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถจะช่วยป้องกันการสูญเสียความมองเห็นจากตัวโรคได้
- การฉีดยาเข้าวุ้นตา เป็นกลุ่มยาต้านการเจริญเติบโตของหลอดเลือด ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นการรักษาหลักของโรคนี้ ยาในกลุ่มนี้มีหลายตัว ซึ่งส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกหลัก คือ Anti-VEGF หรือภายหลังมีการพัฒนายาที่ออกฤทธิ์ผ่านหลายกลไก เช่น Anti-Ang-2 ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มผลของการรักษา เป็นต้น
- การรักษาอื่นๆเช่น เลเซอร์เย็น (Photodynamic Therapy), เลเซอร์ร้อน (Laser Photocoagulation), หรือการผ่าตัด ซึ่งมิได้ทำในทุกราย จักษุแพทย์จะพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละบุคคล
บทความโดย
พญ. ปรียจรรย์ เหล่าไทย
จักษุแพทย์ รพ. ตา หู คอ จมูก